ภาพเก่า…เล่าตำนาน : พระที่นั่งอนันตสมาคม งามสง่า อลังการ คู่ฟ้าเมืองไทย : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภายหลังจากพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ.2440 มีพระราชดำริจะสร้างพระราชวังที่ประทับแห่งใหม่ แยกออกมาจากพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเริ่มจะแออัด โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่บังทางลม อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีสนามหญ้าหรือสวนหย่อมเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ

พระบรมมหาราชวังสร้างมาแล้ว 115 ปี ระบบสาธารณูปโภคที่มีแต่เดิมไม่สามารถรองรับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้นได้ มีปัญหาทางด้านสาธารณสุข มีโรคภัยไข้เจ็บด้านทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ

พระราชวังปีเตอร์ฮอฟที่รัสเซีย สวนป่าตามแบบของอังกฤษตามที่ทอดพระเนตรมาในยุโรป เป็นรูปแบบของพระราชวังที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก ในหลวง ร.5 จึงมีพระราชดำริให้หาที่ดินหัวไร่ปลายนาชายขอบพระนครเพื่อสร้างพระราชวังแห่งใหม่ ซึ่งในยุคสมัยนั้น ที่ดินดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นที่นาของราษฎร

Advertisement

ในรัชสมัยในหลวง ร.5 สยามประเทศกำลังเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมจากชาติมหาอำนาจตะวันตก พระองค์ทรงดำเนินกุศโลบายที่จะแสดงความเป็นอารยะของสยาม เพื่อไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน มีสิ่งปลูกสร้าง อาคาร สถานที่ สะพาน ถนน เกิดขึ้นในพระนครหลายแห่ง ในเวลาเดียวกันในหลวง ร.5 ก็ทรงกังวลเรื่องที่ผู้คนทั้งหลายไม่เข้าใจในแนวพระราชดำริดังกล่าว ถึงกับมีพระราชกระแสรับสั่งกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งท่านได้บันทึกพระราชกระแสไว้ว่า “พระองค์ทรงแสดงพระราชโทมนัสมาก ถึงแก่รับสั่งว่า ต่อไปข้างหน้าเขาคงพากันติฉินว่า สมัยพระจุลจอมเกล้าฯ นี้ช่างโปรดตึกฝรั่งเสียจริง”

ในหลวง ร.5 มีพระราชประสงค์ที่จะสื่อสารทางอ้อมให้กับพระมหากษัตริย์และประมุขของนานาชาติได้ทราบว่า พระองค์คือพระมหากษัตริย์แห่งโลกสมัยใหม่ สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในตะวันตก สยามมีสุนทรียภาพ มีศิลปวัฒนธรรม มีความศิวิไลซ์ (Civilization) ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแย่งยึดดินแดนรอบสยามประเทศ

ในที่สุดพระองค์ทรงเลือกที่ดินที่อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดให้มีผู้แทนพระองค์เจรจาจัดซื้อที่นาของราษฎรอย่างเป็นธรรม โดยกำหนดราคาที่ดินให้เป็นไปที่ฝ่ายเจ้าของที่ดินเห็นว่าสมควร จะต้องทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน และต่อมารูปแบบของหนังสือสัญญากลายเป็นหลักเกณฑ์สำหรับทางราชการที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

Advertisement

การซื้อที่ดินเริ่มดำเนินการเมื่อกุมภาพันธ์ 2441 ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อจากชาวบ้านรวม 301 ราย แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2443 มีการออกโฉนดที่ดินทุกแปลงเป็นครั้งแรก ถือได้ว่าเป็นโฉนดที่ดินแปลงแรกของกรุงเทพฯ

ที่ดินที่จัดซื้อ เป็นรูปทรงเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในพื้นที่ดังกล่าวมีวัดร้างเก่าแก่สมัยอยุธยาชื่อ “วัดดุสิต” ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ผาติกรรมที่ดินในส่วนที่เป็นวัดร้าง โดยนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ “วัดเบญจพิตร” ซึ่งมีความหมายว่า “วัดของเจ้านาย 5 พระองค์” และเมื่อบูรณะแล้วเสร็จ ทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร” หมายความว่า “วัดของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5”

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 โปรดฯให้วางผังและก่อสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ ขึ้นบนที่ดินแปลงใหม่โดยลำดับ และพระราชทานนามของพระราชฐานที่ประทับแห่งใหม่นี้ว่า “วังสวนดุสิต” ตามชื่อวัดร้างเดิม ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น “พระราชวังสวนดุสิต” และต่อมาเป็น “พระราชวังดุสิต” สืบมาจนทุกวันนี้

การก่อสร้างเริ่มจาก พระที่นั่งวิมานเมฆ และหมู่พระตำหนักที่ประทับ ตามด้วย พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ตามลำดับพระที่นั่งดังกล่าวที่สร้างเสร็จแล้ว ไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธี เหลืออาคารหลังสุดท้ายคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ต้องพระประสงค์ให้ก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อให้เป็นเสมือนท้องพระโรงหรือ ห้องรับแขกประจำพระราชวังดุสิต สำหรับเสด็จพระราชดำเนินออกเพื่อทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะและแขกเมือง รวมทั้งพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหาร และจะทรงใช้ประชุมข้อราชการแผ่นดิน เพื่อให้สมพระเกียรติยศ

สถาปัตยกรรมรูปโดมทรงกลมขนาดใหญ่ที่มีหลังคาเป็นโลหะทั้งหลัง ตัวอาคารมีพื้นผิวเป็นหินอ่อนสีขาวนวลทั้งหมด คือ รูปแบบที่ทรงทอดพระเนตรมาจากยุโรป โปรดเกล้าฯให้ ทีมงานสถาปนิก ช่าง วิศวกร ประติมากรชาวอิตาเลียนเข้ามาดำเนินการออกแบบ

โปรดเกล้าฯให้ นายมาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) หนุ่มจากอิตาลีอายุ 27 ปี เข้ารับราชการเป็นสถาปนิกในกระทรวงโยธาธิการ มีสัญญาว่าจ้าง 25 ปี และให้นายคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) อายุ 46 ปี เป็นวิศวกร และมีจิตรกรจากอิตาลีอีก 3 คน ควบคุมก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ถือว่าเป็นการก่อสร้างที่สุดอลังการสำหรับสยามประเทศในเวลานั้น

ในหลวง ร.5 ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายไทย คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ   อมาตยกุล) เป็นแม่กองก่อสร้างและผู้ช่วยตามลำดับ โดยทำงานร่วมกับทีมนายช่างจากอิตาลี

เสาหินอ่อน ประติมากรรมหินอ่อน ลูกกรง ช่องแสงหินอ่อนทั้งหมด สั่งตรงมาจากอิตาลี มีการขุดเจาะหลุมสำหรับเทปูนเป็นเสาเข็มใช้ระบบ Compactual Pile มีปั้นจั่น ลูกตุ้มเจาะดินหนัก 2 ตันเป็นอุปกรณ์หลัก ต้องเจาะหลุมและเทปูนเป็นเสาเข็มถึง 501 หลุม มีการทำ Pile load test เป็นครั้งแรกในสยาม ว่าจ้างแรงงานไทย จีน จำนวนมากมาก่อสร้าง

การก่อสร้างดำเนินไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ในหลวง ร.5 ทรงโปรดให้ใช้ผนังอาคารปูด้วยหินอ่อนสีขาวนวล จากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี เมื่อเสด็จกลับจากเยือนยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว จึงเสด็จไปวางศิลาพระฤกษ์ใน 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451

ในระหว่างการก่อสร้าง ทุกครั้งที่เรือกลไฟเดินทางมาจากอิตาลีและมาเทียบที่ท่าเรือกรุงเทพฯ พระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการขนย้ายและการเปิดหีบห่อ สิ่งของดังกล่าว สวยงามเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวสยามยิ่งนัก

การก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานทุกประการ เป็นที่พอพระราชหฤทัย แผนงานก่อสร้างต้องการให้แล้วเสร็จใน พ.ศ.2456 เพื่อใช้ในการเสด็จออกมหาสมาคมในโอกาสครบรอบ 60 พระชนมพรรษา แต่แล้วเหตุการณ์ที่ชาวสยามต้องเสียใจร่ำไห้กันทั้งแผ่นดิน คือ ในหลวง ร.5 เสด็จสวรรคตใน 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ซึ่งการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2458 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท (อัตราเงินในสมัยนั้น)

รูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการของประเทศอิตาลี (ศิลปะเรอแนซองส์ : Renaissance) เป็นรูปแบบศิลปะที่นิยมกันในช่วง พ.ศ.1950 ถึง พ.ศ.2150 ตรงกับสมัยอยุธยาของไทย ซึ่งศิลปินแขนงต่างๆ ของอิตาลีพากันย้อยเวลาไปศึกษารูปแบบศิลปะในยุคกรีกและโรมันเมื่อ ราว 2 พันปีที่ผ่านมา ศิลปะแนวนี้แพร่หลายเข้ามาในสยามพร้อมกับชาวต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 4

ส่วนของหลังคาตรงกึ่งกลางของอาคารของพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นโดมขนาดสูงใหญ่ และมีโดมเล็กๆ อีก 6 โดม รวมทั้งหมดจึงมี 7 โดม หลังคาแต่ละโดม วิศวกรอิตาเลียนออกแบบใช้แผ่นทองแดงหล่อ เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศและน้ำฝน จึงเกิดเป็นสนิมสีเขียว ลักษณะของโดมมีอิทธิพลมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

บนเพดานของแต่ละโดม ตกแต่งด้วยภาพเขียนสีน้ำแบบ เฟรสโกเซกโก (Fresco Secco) หรือจิตรกรรมแบบปูนแห้งขนาดใหญ่ เป็นลวดลายแบบนีโอคลาสสิก ผสมผสานรูปแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) เป็นฝีมือการเขียนภาพของนายคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) และนายกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) จิตรกรชาวอิตาเลียน ภายใต้การกำกับดูแลของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างสูงในศิลปกรรมไทยหลายแขนง มีทักษะในการผสมผสานการเขียนภาพศิลปกรรมไทยกับศิลปกรรมตะวันตกเข้าด้วยกัน

ภาพเขียนที่ปรากฏใต้โดม ออกแบบไว้เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ 6 รัชกาล สื่อความหมายพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นในแต่ละรัชกาล เป็นภาพที่มีชีวิตชีวา มีแสง มีเงา มีมิติที่แตกต่างไปจากภาพวาดแนวเดิม

จิตรกร ที่ชื่อนายริโกลี ในขณะเขียนภาพจะต้องนอนหงาย นอนตะแคง บิดซ้ายขวาไปตามลักษณะโดมเพื่อเขียนภาพ พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเขียนเสร็จ โปรดเกล้าฯให้เขียนภาพพุทธประวัติตอนตรัสรู้ และปฐมเทศนาเพิ่มเติม

สิ่งที่วิเศษที่สุด คือ ความคงทนของสีที่ใช้คงทนนานนับร้อยปี ก็ยังดูสดใส สง่างามมาจนถึงทุกวันนี้

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงสืบทอดพระราชภารกิจการก่อสร้าง และทรงเปิดใช้งานเมื่อ ปี พ.ศ.2458 เป็นต้นมา ทำให้พื้นที่บริเวณพระราชวังดุสิตงามสง่าโดดเด่นที่สุดในสยามประเทศ

20 กันยายน 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นพื้นที่สวนสนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช

11 มกราคม 2459 ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ มีพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกสนานที่พลับพลาที่สร้างขึ้น ระหว่างพระที่นั่งอัมพรสถานกับพระที่นั่งอนันตสมาคม และมีพระราชพิธีใคร่พระมหาเศวตฉัตรประจำพระที่นั่งด้วย กับทั้งได้เสด็จออกที่สีหบัญชรด้านทิศใต้ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ เสนาอำมาตย์ ราชเสวก และประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ทั้งในวันที่ 11 และ 12 มกราคม 2459

ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเป็นฉบับแรก รวมทั้งเป็นอาคารรัฐสภาของชาติแห่งแรก และใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ ณ อาคารรัฐสภาปัจจุบัน

19 มกราคม 2504 มีพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม สมโภชพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชการเสด็จนิวัตพระนคร หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป

28 ธันวาคม พ.ศ.2515 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่พสกนิกรชาวไทยต่างปลื้มปีติ คือ พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467

บรรยากาศในห้วงเวลานั้นพสกนิกรต่างชื่นชมยินดี มีการตกแต่งสถานที่ต่างๆ อย่างสวยงามทั่วประเทศ เช่น การประดับประทีปโคมไฟในสถานที่ราชการ การนำพระฉายาลักษณ์มาติดตั้งในหน่วยงาน อาคารของภาคเอกชน ก็มีการตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม (ปรากฏในภาพการตกแต่งไฟพระที่นั่งอนันตสมาคม)

และพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งล่าสุด คือเมื่อ 6 เมษายน 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ในพระราชพิธีดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประทับยืนหน้าพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 ซึ่งพสกนิกรชาวไทยต่างชื่นชมพระบารมี และพระราชพิธีอันสง่างามในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้ชมความวิจิตรตระการตาภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้ไปพร้อมกัน

ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลโดยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปโฉมกายภาพของกรุงเทพฯครั้งใหญ่ กุศโลบายของพระองค์ ทำให้เกิดสิ่งปลูกสร้าง อาคาร สถานที่ ถนน สะพานในกรุงเทพฯ อันโดดเด่นสวยงามในหลายพื้นที่รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม

ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ โดยเฉพาะในการดำเนินวิเทโศบายปัญหาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทรงเร่งรัดพัฒนาสยามประเทศในทุกด้านเพื่อให้เป็นอารยะ เพื่อความอยู่รอด มุ่งรักษาเอกราช โดยมิให้สยามถูกดูหมิ่นดูแคลนจากชาวโลก ซึ่งพระองค์ทรงใช้ความสุขุมคัมภีรภาพ ในที่สุดพระองค์ทรงนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์มาได้

เรียบเรียงโดย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
————————————————
ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจาก หนังสือที่ระลึกครบ 100 ปีพระที่นั่งอนันตสมาคมฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image