“ชาวสวนยาง” บุกเกษตรยื่น 12 ข้อแก้ปัญหายางถึงบิ๊กฉัตร

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 20 มิถุนายน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) พร้อมเครือข่ายประมาณ 40 คน รวมตัวกันขอเข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการ (บอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

โดยทาง สยยท.มีหนังสือถึง พล.อ.ฉัตรชัย นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหารวม 12 ข้อ คือ 1.ประเทศไทยมียางเป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่ผ่านมาเราเดินตามหลังตลาดโลก และการขายยางล่วงหน้าเป็นอุปสรรคที่ราคายางไม่มีเสถียรภาพ (เพราะซื้อขายกระดาษเหมือนหุ้น ปั่นราคาได้) ดังนั้นเราควรจัดตลาดซื้อจริง ขายจริง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรมากกว่า 2.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กยท. มาตรา 8 วัตถุประสงค์ดำเนินการให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ โดยมาตรา 9 ให้ กยท.มีอำนาจทำกิจการต่างๆ (2) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราโดยการจัดตั้งบริษัทเพื่อชี้นำราคาในตลาดประมูลยางทุกแห่งเพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อที่กดราคา 3.พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 มาตรา 6 ในการส่งออกยาง (8) (9) (10) ต้องควบคุมผู้ส่งออกโดยไม่ให้ขายยางต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรที่ตกลงร่วมกันในไตรภาคี ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกปรับตามราคายางที่ต่ำกว่าต้นทุนที่กำหนดไว้ และควรยึดใบอนุญาตใน มาตรา 10 วางหลักเกณฑ์การค้ายางภายในประเทศ และมาตรา 48 ผู้ส่งออกยางจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 กำจัดพวกปล่อยข่าวทำลายราคายางซึ่งเข้าข่ายทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

4.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มมูลค่ายางเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาง โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และให้หน่วยราชการรับซื้อ (ด้านอุตสาหกรรม ควรให้แต้มต่อเหมือน BOI) ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นการลดปริมาณยาง 5.ทาง สยยท.มีมติไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงยาง เพราะเก็บยางไว้จะเป็นภาระรัฐบาล ตามข้อ (2) กยท.ตั้งบริษัท และใช้เงินแทรกแซงมาสนับสนุนเกษตรกร รวมกลุ่มเกษตรกรให้ซื้อขายยางเป็นอาชีพเสริมเพื่อนำส่งบริษัท กยท.ที่จัดตั้งขึ้นและในสภาวะราคายางตกต่ำให้ทุกกลุ่มเก็บยางไว้ และทางรัฐบาลจะงดเก็บดอกเบี้ยจนกว่าราคายางจะปกติ 6.ในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ควรแก้อย่างถาวร และวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาจะต้องกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจน 7.ควรจะต้องมีกฎเกณฑ์ตามข้อตกลง บาหลีเร็กกูเลชั่น โดยมีตลาดร่วมทุน 3 ประเทศ เป็นตัวร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกประเทศ

8.ควรกำหนดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั้ง 3 ประเทศ ร่วมกันเพื่อไม่ให้พ่อค้าและต่างประเทศส่งออกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ถ้าไม่เป็นไปตามข้อตกลง จะต้องมีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน 9.ยางที่ค้างอยู่ในสต๊อก 1.1 แสนตัน ควรนำออกมาขายให้ อบท.ใช้ผสมแอสฟัลท์ลาดถนน โดยการตั้งงบประมาณปี 2561 รองรับ 10.สวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิและ กยท.ให้ขึ้นทะเบียนไว้เกือบ 2 ปีแล้วควรที่จะดำเนินการให้ถูกต้องเพราะเกษตรกรชาวสวนยางทุกคนได้เสียเงิน cess แต่เข้าไม่ถึง พ.ร.บ.กยท. มาตรา 49 11.ปัญหา กยท.ซื้อปุ๋ยให้เกษตรกรได้รับเป็นปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน กยท. ควรจ่ายเป็นเงินสดให้เกษตรกรจัดหาเองเพราะอาจจะนำเงินไปทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองตามนโยบายของรัฐบาลในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง และ 12.สยยท.ขอเป็นผู้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยาง และติดตามปัญหาภาพรวมของยางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจรเพื่อนำเสนอ กระทรวงเกษตรฯโดยตรง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) ประกอบ ด้วย 9 องค์กร ได้แก่ 1.สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) 2.สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 3.ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย 4.สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย 5.สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ 6.ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 7.ชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางแห่งประเทศไทย จำกัด 8.แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 9.สมาคมผู้ค้ายางภาคเหนือ

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวภายหลังชาวสวนยางเข้าพบว่า ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้บอร์ด กยท.ชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาอีก 11 ข้อ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมาแล้ว 4 ข้อ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน โดยมองว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้เป็นการทำงานบูรณาการร่วมกัน ดีกว่าการรวมกลุ่มประท้วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image