คณะกรรมการอิสระฯ ยันไม่แตะโครงสร้างใหญ่ ศธ.ชงปรับเล็กให้ ร.ร.เป็นนิติบุคคล

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นางดารณี อุทัยรัตนกิจ และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นรองประธานคณะกรรมการอิสระฯ รวมถึงมีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ และนางภัทรียา สุมะโน เป็นโฆษก นอกจากนี้ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 กลุ่ม ซึ่งแบ่งตามภารกิจ ดังนี้ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก มีนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการกองทุน มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน คณะอนุกรรมการครู มีนายวิวัฒน์เป็นประธาน คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน มีนางยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการโครงสร้าง มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน และมีมติแต่งตั้ง นายตวง อันทะไชย เป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป รวมถึงได้เปิดเฟซบุ๊กและไลน์ ชื่อกลุ่ม “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยคณะกรรมการอิสระฯ จะรวบรวมเพื่อนำความคิดเห็นทั้งหมดวิเคราะห์ และหาข้อสรุปเพื่อวางแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

นพ.จรัสกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอข้อมูล ปัญหาการศึกษาไทย ที่หลายฝ่ายได้ศึกษามา โดยในส่วนของ สกศ. นำเสนอผลการศึกษา ปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งได้ถูกนำไปกำหนดแนวทางแก้ไขในแผนการศึกษาชาติระยะ 20 ปีแล้ว ข้อมูลที่ สกศ.ได้วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทยออกมาอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าไปแก้ไข มีทั้งปัญหาการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ เด็กที่หลุดจะระบบการศึกษา ซึ่งจากรายงานพบว่ามีถึง 90,000-100,000 คนต่อปี ทั้งหมดรวมอยู่ในปัญหาความเหลื่อล้ำทางการศึกษา ปัญหาคุณภาพการศึกษา คุณภาพครู การจัดการเรียนการสอน ที่เราต้องเข้าไปแก้ไข ขณะเดียวกันยังนำผลการวิเคราะห์ปัญหาการศึกษา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาพิจารณาด้วย การปฏิรูปครั้งนี้เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อทำข้อเสนอไปยังรัฐบาล หรือบางเรื่องหากจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายก็เสนอไปก่อน

“ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น โครงสร้างใหญ่เราคงไม่ไปแตะ แต่มีการพูดคุยถึงการปรับโครงสร้างเล็ก ระดับโรงเรียน ว่าควรจะกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และให้ส่วนกลางทำหน้าที่กำกับดูแลให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวอย่างหลากหลาย และเห็นว่ามีทั้งโรงเรียนที่มีความพร้อมและไม่พร้อมจึงต้องพิจารณาว่าจะกระจายอำนาจลงไปอย่างไรจึงจะเกิดความเหมาะสม ส่วนการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีคณะกรรมการอิสระฯ ดังนั้นคงต้องเดินหน้าต่อไป เราคงไม่ไปพิจารณาเรื่องนี้อีก” นพ.จรัสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image