‘ฉัตรชัย’ปิ๊งตั้งบปี61ซื้อยางใช้ในประเทศ-กยท.เผยผลหารือมาเลย์อินโดฯวืด เหตุ2ประเทศไม่ได้รับผลกระทบ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สยยท.) พร้อมผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางจากเครือข่าย 9 องค์กร ว่า ได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยทาง สยยท.ได้ยื่นข้อเสนอแนะ 12 มาตรการแก้ไข โดยเร่งรัดให้ใช้ยางในประเทศมากขึ้น ด้วยการตั้งงบประมาณปี 2561 มาดำเนินการ และกระตุ้นการซื้อขายผ่านตลาด 108 แห่ง ตลาดกลางซื้อขายยางของการยางแห่งประเทศไทยทั้ง 6 แห่ง และผลักดันให้ตลาดกลางท้องถิ่นซื้อขายยางจริงของทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีผลทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้กระทรวงเกษตรฯจะนำมาพิจารณาประกอบกับมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางตามที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้ว
นายธีธัช สุดสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า เพื่อเร่งแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ กยท.ได้หารือกับระดับเจ้าหน้าที่ของทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อกำหนดวาระการประชุมร่วมกันในระดับรัฐมนตรี เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกยางให้เป็นผลทางปฏิบัติให้เร็วที่สุด จากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ในการหารือพบว่ามาเลเซียมีมาตรการภายใน กรณีราคาตกต่ำเกษตรกรจะหยุดกรีดทันที เนื่องจากเกษตรกรเหล่านี้มีอาชีพเสริมทางอื่นที่ให้รายได้ทัดเทียมกัน ส่งผลให้มาเลเซียไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้

นายธีธัชกล่าวว่า ส่วนอินโดนีเซีย ราคายางที่ตกต่ำในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ไม่กระทบกับค่าครองชีพ และเมื่อราคาตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เกษตรกรจะหยุดและหารายได้ด้านอื่นทดแทน ต่างกับเกษตรกรไทยที่ส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ส่วนอื่น ทำให้ได้รับผลกระทบหนักกว่าเมื่อราคายางตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศมีความเห็นตรงกันว่าระดับราคายางจะปรับเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ และจะเห็นภาพชัดขึ้นในครึ่งปีหลัง เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีน้อย ในขณะที่ความต้องการของตลาดยังขยายตัว สถานการณ์ยางราคาตกต่ำดังกล่าวเกิดจากการเก็งกำไรของตลาดซื้อขายล่วงหน้า ที่ทั้ง 3 ประเทศเห็นว่าไม่ควรนำมาใช้อ้างอิงกับการซื้อขายจริง เพราะจะส่งผลกระทบกับราคาที่เกษตรกรได้รับ

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 ได้รับข้อสั่งการจาก พล.อ.ฉัตรชัยให้ออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ ฉบับที่ 3 แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยางซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยเพิ่มเติม เพื่อร่วมกันออกตรวจสอบสต๊อกยางของโรงทำยางและผู้ค้ายางที่ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีการซื้อยาง บัญชีการจำหน่ายยาง และปริมาณยางคงเหลือของสถานประกอบการเกี่ยวกับยาง เพื่อตรวจสอบว่ามีรายละเอียดสอดคล้องกับที่เคยแจ้งให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบในแต่ละเดือนตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมยางกำหนดหน้าที่ให้ผู้ค้ายางต้องทำบัญชีการซื้อยาง บัญชีการจำหน่ายยาง และปริมาณยางคงเหลือทุกเดือน และจัดส่งให้เจ้าหน้าที่ทราบทุกเดือนหรือไม่ เพื่อเป็นการตรวจสอบสต๊อกยางของตลาดให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านราคาและการซื้อขายยางที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ สร้างความโปร่งใสในการซื้อขาย

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image