3 อธิบดีกระทรวงหมอ ออกโรงหนุนแก้ ‘กม.บัตรทอง’ ตัวเต็งแคนดิเดตว่าที่ปลัดก็มา!!

เมื่อวันที่  20 มิถุนายน  นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกำลังเป็นประเด็นขณะนี้ ว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่มีการใช้ในประเทศไทย มาเป็นเวลานานกว่า15 ปี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประเทศ อย่างไรก็ตาม ควรมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริการแก่ประชาชน ซึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมป้องกันโรค ได้แก่ การใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค และการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการด้านการป้องกันควบคุมโรค กล่าวคือ การใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้งบประมาณได้เฉพาะผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาล (individual health) เท่านั้น  ซึ่งไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมป้องกันโรคของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นฐานสำคัญ (community health) ในการดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรค

“ส่วนการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ ปัจจุบันมุ่งเน้นที่ผู้รับบริการเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ครอบคลุมบุคคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงาน  เช่น บุคคลากรที่ติดเชื้อวัณโรค จากการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นต้น    สธ. สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ในการจัดระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประเทศให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับสิทธิการให้เป็นบริการสาธารณสุขพื้นฐานที่จำเป็น “ นพ.เจษฎา กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต     กล่าวถึงการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (พ.ร.บ.บัตรทอง) ว่า พ.ร.บ.บัตรทองมีการใช้มานาน และหลายอย่างเป็นอุปสรรคหลายอย่างที่ไม่เอื้อต่อการรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มที่ อย่างที่ผ่านมาเรื่องการรวมเงินเดือนบุคลากรเข้ากับงบเหมาจ่ายรายหัวนั้นโดยภาพรวมดูเหมือนเป็นก้อนใหญ่ แต่พอหักค่าตอบแทนออกไปแล้วเหลือไม่มาก ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ การแยกเงินเดือนออกจึงถือว่าเหมาะสมเพราะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน ส่วนเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการบอร์ด สปสช.นั้นตนคิดว่าคณะกรรมการต่างก็มีวิจารณญาณ มีเหตุผลในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ไมใช่จะเอาผลโหวต และอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหา

“ได้ทำความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ.ใหม่ และเข้าไปร่วมในการประชาพิจารณ์เวทีกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.นั้น ก็เห็นด้วยกับการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งยืนยันว่าจะเข้ามาช่วยเสริมให้ ที่บอกว่าประชาชนจะเสียสิทธิ เป็นผู้ป่วยอนาถา หรือภาคประชาชนจะถูกลิดรอนสิทธินั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดทั้งหมด ยืนยันว่าประชาชนไม่เสียสิทธิใดๆ เลย” นพ.บุญเรือง กล่าว

Advertisement

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เนื่องจากใช้มานาน 15 ปี ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนเห็นตรงกันว่ามีจุดดี แต่ก็มีจุดที่ต้องปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ต้องปรับปรุงในประเด็นเรื่องงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากปี 2560 ใช้งบด้านนี้จำนวนกว่า 300 บาท ต่อหัวประชากร ซึ่งเดิมงบก้อนนี้จะส่งไปยังหน่วยบริการ หรือรพ.ต่างๆ ปัญหาคือ ไปไม่ถึงชาวบ้านอย่างเพียงพอ เนื่องจากรพ.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เมื่อได้รับงบก้อนนี้ทำให้มีการนำไปใช้จ่ายภายในรพ. ขณะที่การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคมีการทำเช่นกัน เพียงแต่อาจไม่เต็มที่มาก

“เพื่อความชัดเจน ในการปรับปรุงกฎหมายในประเด็นดังกล่าวไม่ได้พูดรายละเอียดมากนัก ซึ่งน่าจะเพิ่มช่องทางว่า ควรใช้งบฯให้ถูกจุดโดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำและจะออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้การใช้งบด้านนี้ตรงจุด และไม่เกิดความซ้ำซ้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกกองทุนสุขภาพตำบล กองทุนยังคงมีอยู่ แต่ควรเพิ่มช่องทางการบริหารจัดการดังกล่าวให้ชัดเจน” นพ.วชิระ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอธิบดีที่ขณะนี้ถูกจับตามองนั่งว่าที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)คนใหม่ แทนนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ มีชื่อของนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต   พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดสธ. ส่วนนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย แม้จะมีเสียงเชียร์ แต่ก็ถูกมองว่ายังมีประเด็นที่เคยอยู่เคียงข้างสมัย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัดสธ. อาจทำให้ถูกมองเรื่องการกระทบต่อความปรองดองในกระทรวงก็เป็นได้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image