เกษตรจับเข่าคุยสวนยางหาทางแก้ปัญหาราคายางตก

นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายฯและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) และนายบุญส่ง นับทอง ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ภายหลังการเข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงเช้าวันเดียวกัน

นายอุทัย กล่าวว่า ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ตนเป็นกรรมการสภาเครือข่าวเกษตรกรชาวสวนยางฯ มา 3 สมัย หรือกว่า 6 ปีที่ผ่านมา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมยาง พ.ศ.2542 แทบจะยังไม่เคยบังคับกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นการร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขในครั้งนี้คาดว่าจะเป็นการผลักดันให้ใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากพ.ร.บ.ควบคุมยางจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่อพ่อค้าและผู้ส่งออก และจะเป็นอาวุธอย่างหนึ่งที่จะช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง

นายบุญส่ง กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนคือราคายางพาราที่มีความผันผวนสูง ในบางวันราคายางพาราตกถึง 3-4 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากระดับปกติ 30-50 สตางค์ต่อกก. เมื่อราคาตลาดไม่ปกติ ชาวสวนยางจะได้รับความเดือดร้อน จึงจะต้องนำประเด็นเหล่านี้มานำเสนอผู้บริหารระดับประเทศอย่างจริงจัง ใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การใช้พ.ร.บ.ควบคุมยาง เพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของยางพารา และการจัดตั้งตลาดยางทั่วประเทศ ทั้งในส่วนตลาดกลาง 6 แห่ง ตลาดเอกชนและตลาดของกยท.อีก 108 แห่ง ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมยาง และนอกจากนี้แล้วในเรื่องแนวทางการบริหารการจัดการตลาด ทางสภาเครือข่ายเกษตรกรฯ มองว่าควรจะมีการขอความร่วมมือจากประเทศผู้ผลิตยางรายอื่นร่วมด้วย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เพื่อวางแผนการตลาดร่วมกันและร่วมรักษาเสถียรภาพของราคายางพารา ในลักษณะตลาดอาเซียน

นายบุญส่ง กล่าวว่า 2.การเร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศ ในส่วนนี้ผู้บริหารกยท.จะเข้าไปช่วยดูแลอยู่แล้วตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณกกรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)ครั้งที่ผ่านมา ที่เร่งรัดให้มีการนำยางพารา 1 แสนตันไปใช้ ความคืบหน้าในขณะนี้ยังล่าช้าอยู่ แต่มองว่าหากมีการเร่งแก้ไขจะทำให้เกิดเป็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน

Advertisement

นายอำนวย กล่าวว่า หลังจากที่แต่ละฝ่ายได้ร่วมกันเสนอแนวทางแก้ปัญหาแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้จะแก้ในเรื่องเร่งด่วนก่อน โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมยางขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เดียวคือ กฎหมายการส่งเสริมและพัฒนาของกยท. แต่เครื่องยนต์ตัวที่ 2 ในเรื่องพ.ร.บ.ควบคุมยางที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ.2542 เพื่อแก้ไขเรื่องราคายางตกต่ำ ยังไม่ได้ใช้อย่างจริงจัง ทางสภาเครือข่ายเกษตรกรฯ จึงได้เสนอให้มีการใช้ทั้ง 2 เครื่องยนต์ร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่กยท.เข้าไปกำกับดูแลว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่อย่างไร

นายธีรภัทร กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ เองก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรทุกกลุ่มสินค้ารวมทั้งกลุ่มยางพาราด้วย เพื่อดำเนินการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตามในเรื่องการใช้ยางภายในประเทศ ทางรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ตนเข้ามาติดตามเพิ่มเติม จากปัญหาเดิมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้หลายส่วนมีความพร้อมก็คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image