ศิริราชแถลงความสำเร็จแห่งเดียวในไทย ‘มีดนาโนทางเลือกรักษามะเร็งตับ-มะเร็งตับอ่อน’

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่โรงพยาบาลศิริราช  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “แห่งเดียวในไทย ศิริราชรักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโน” ว่า รพ.ศิริราชได้นำนวัตกรรมมีดนาโนมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งตับและตับอ่อนแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้การรักษาแล้ว 20 ราย ในเวลา 3 ปี ผลการรักษาดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่มีค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 1.5-2 แสนบาท และยังไม่ครอบคลุมสิทธิการรักษาภาครัฐ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่แพทย์ว่าต้องรับการรักษาด้วยวิธีการนี้ ทาง รพ.ศิริราชก็จะให้การรักษาทุกราย ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเองก็จะใช้เงินช่วยเหลือจากโครงการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและค่าใช้จ่ายสูง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศาลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมบริจาคได้ที่ศิริราชมูลนิธิ โทร 0-2419-7658-60

ผศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี หัวหน้าสาขารังสีวินิจฉัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กล่าวว่า มะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในชายไทย และเป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับระยะของโรค วิธีที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ก็ใช้วิธีการทางรังสีร่วมรักษา ได้แก่ การจี้ก้อนเนื้องอกเฉพาะจุด การให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด เป็นต้น สำหรับการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยเข็มที่ให้ความร้อนซึ่งเหมาะกับก้อนเนื้องอกที่มีขนาดไม่เกิน 5 ซม. ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ในทุกตำแหน่ง จึงมีการพัฒนานวัตกรรมการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโนขึ้นมา

ด้าน นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ อาจารย์แพทย์สาขารังสีวินิจฉัย กล่าวว่า จะใช้มีดนาโนจี้เนื้องอกมีขนาดเล็กกว่า 5 ซม. และอยู่ชิดหลอดเลือดหรือท่อน้ำดี อยู่ในระยะไม่ลุกลาม โดยใช้เข็มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 มม.อย่างน้อย 2 เล่ม สูงสุดไม่เกิน 6 เล่ม ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ไหลผ่านเซลล์เนื้องอกทำให้เกิดรูขนาดเล็กจำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ทำให้เซลล์จุดเฉพาะเซลล์เนื้องอกตายแบบสมบูรณ์ โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อและโครงสร้างร่างกายข้างเคียง ผู้ป่วยมีแผลเล็ก พักฟื้น 1 คืนก็กลับบ้านได้ ส่วนข้อจำกัดคือจะไม่ใช้มีดนาโนรักษาผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ก้อนเนื้องอกที่อยู่ใกล้หัวใจ เพราะกระแสไฟฟ้าที่เข้าไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมถึงก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่เกิน 5 ซม.อย่างไรก็ตามอนาคตอาจจะมีการขยายขอบเขตการรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งตำแหน่งอื่นๆ ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image