ท้องถิ่นตื๊อไม่เลิก ขอแบ่งรายได้ 40% จากอุทยานแห่งชาติ ผอ.สำนักชี้ ต้องเอาไปฟื้นฟูระบบนิเวศก่อน

จากกรณี คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ครั้งที่ 1/2560 ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการติดตามความคืบหน้าการปรับสัดส่วนเงินรายได้ที่จัดเก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 40 โดยระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) มีข้อสรุปว่าเห็นควรจัดสรรเงินรายได้ให้ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 หลังจากล่าสุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 กรมอุทยานฯ สามารถจัดก็บเงินรายได้กว่า 1,050 ล้านบาทนั้น

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ยันยันว่าที่ผ่านมายังไม่มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และยังไม่มีข้อสรุปดังกล่าว อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสามารถปรับแก้ในกฎหมายได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่เวลานี้ขอชี้แจงว่าเรื่องการจัดเก็บเงินรายได้ของกรมอุทยานฯ ไม่ใช่ว่าจะสามารถเก็บเงินรายได้อย่างสม่ำเสมอหรือคงที่ มีอุทยานฯ แห่งชาติเพียง 25 แห่งที่จัดเก็บเงินรายได้มากกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่อุทยานฯที่จัดเก็บเงินได้น้อยมีจำนวนเป็น 100 กว่าแห่ง โดยมี 39 แห่งจัดเก็บได้ไม่ถึงปีละ 5 แสนบาท และสามารถจัดเก็บเงินรายได้เพียง 130 แห่ง จาก 151 แห่งเท่านั้น ส่วนที่ระบุว่าสามารถจัดเก็บเงินได้รายได้ถึง 1,000 ล้านบาท ก็เพิ่งเริ่มทำได้สำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนตรงไปตรงมา ซึ่งต้องนำเงินรายได้ส่วนนี้มากระจายดูแลอุทยานฯ ทั่วประเทศ ขณะที่ภารกิจบางส่วนสำนักงบประมาณ ก็ไม่ได้จัดสรรเงินงบประมาณประจำปีให้กรมอุทยานฯแล้ว แต่ให้ใช้งบประมาณจากเงินรายได้มาดำเนินการแทน

นายทรงธรรม กล่าวว่า วันนี้กรมอุทยานฯ ใช้ความพยายามบริหารจัดการเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บเงินรายได้อย่างโปร่งใส และมีการปรับปรุง การบริการและดูแลนักท่องเที่ยว ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์คือเงินรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นแตกต่างจากที่ผ่านมา แต่กรมอุทยานฯ มีภาระต้องดูแลอุทยานฯ อีก 151 แห่ง และกำลังประกาศเพิ่มอีก 4 แห่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและการบริการนิเวศด้านต่างๆ ให้กับประชาชน งานสำคัญที่สุดของกรมอุทยานฯ คือการประเมินสถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติ และการฟื้นฟูระบบนิเวศ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องใช้งบประมาณลงทุนในการฟื้นฟูระบบนิเวศและแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ขอโอกาสให้ ได้พัฒนาปรับปรุงอุทยานฯ ทั้ง 155 แห่ง ตามแผนการจัดการอุทยานฯ แบบบูรณาการของ ทส. และตามนโยบายของรัฐบาลให้สำเร็จก่อน

“ยืนยันว่าไม่ได้หวงเงินส่วนนี้ แต่ขอให้อุทยานฯ ได้มีการสร้างศักยภาพทุกแห่ง และมีความพร้อมในการเป็นแหล่งรายได้ให้กับท้องถิ่นเสียก่อน แล้วจึงมาร่วมหารือกันว่าอุทยานฯ จะสามารถสนับสนุนให้ท้องถิ่นได้จำนวนเท่าไร และจะจัดสรรอย่างไรจึงจะเป็นการช่วยกันรักษาทรัพยากรขอประเทศไทย เพราะอุทยานฯ เป็นสมบัติของทุกคนในในชาติ”นายทรงธรรม กล่าว

Advertisement

“การที่อุทยานฯ สามารถเก็บเงินรายได้ได้มาก ไม่ใช่สิ่งที่ภาคภูมิใจ แต่มันหมายถึงภาระหน้าที่ในการฟื้นฟูระบบนิเวศและดูแลรักษาพื้นที่ท่องเที่ยวในทุกด้าน การดูแลอุทยานฯ ไม่ใช่ไม่มีต้นทุน แต่เราใช้งบประมาณในการดูแลคุ้มครองสูงมาก เราไม่ได้ขายการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ในการปกป้องรักษาและให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศคงอยู่ตลอดไปไม่ใช่ไม่มีต้นทุน แต่เราใช้งบประมาณในการดูแลคุ้มครองสูงมาก เราไม่ได้ขายการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ในการปกป้องรักษาและให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศคงอยู่ตลอดไป กรมอุทยานฯ ไม่ได้ตั้งเป้าในการเก็บเงินรายได้เท่านั้นแต่ภารกิจสำคัญคือการดูแล ฟื้นฟูซึ่งเป็นงานที่ยากลำบาก การใช้เงินรายได้ไม่ใช่จะนำไปทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่เรามีแผนการใช้จ่ายที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ และเป็นการสร้างประโยชน์ สร้างงาน ให้กับชุมชนและท้องถิ่นใกล้เคียงกับอุทยานฯ นั้นๆ ด้วย”นายทรงธรรมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image