มติ 5 เสือกกต.เห็นแย้งกม.ลูกกกต.ชี้ เขียนเกิน รธน.บัญญัติ-ปมเซตซีโร่ ขัดหลักนิติธรรม

มติ 5 เสือกกต.เห็นแย้งกม.ลูกกกต. 6 ประเด็น ชี้ เขียนเกินกว่าที่ รธน.บัญญัติ ขณะที่ปมเซ็ตซีโร่ ขัดหลักนิติธรรม-นิติประเพณี เตรียมชงสนช. 23 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว รองเลขาธิการกกต. กล่าวภายหลังการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการเสนอความเห็นแย้งต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยได้ข้อสรุป 6 ประเด็น ที่เห็นว่าร่างดังกล่าวมีบทบัญญัติที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.มาตรา 11 วรรคสาม ที่กำหนดเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหากกต. ซึ่งมาตราดังกล่าวได้เขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่ระบุว่าให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต มีความเข้าใจในภารกิจของกกต. และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ ซึ่งประเด็นนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนบัญญัติไว้ และรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุให้ดูคุณสมบัติของกฎหมายลูกประกอบด้วย 2. มาตรา 12 วรรคหนึ่งที่กำหนดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกกต. ที่ระบุว่า ไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใดๆรวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งบัญญัติเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด มาตรา 203 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 206 , มาตรา 222

นายภูมิทัศน์ กล่าวว่า 3.มาตรา 26 ระบุอำนาจหน้าที่ของกกต. แต่ละคนในการสั่งระงับเมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต และเที่ยงธรรม ในบางหน่วย หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง และเสนอต่อที่ประชุมกกต.เพื่อวินิจฉัย ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (3) วรรคสาม ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต. เพียงคนเดียวสามารถสั่งระงับยับยั้งหรือสั่งเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อพบเหตุทุจริตเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วย 4. มาตรา 27 ที่กำหนดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. เพียงให้ควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (1) และ(2) ที่กำหนดให้กกต. มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

นายภูมิพิทักษ์ กล่าวอีกว่า 5. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงานของสำนักงาน มีอำนาจสืบสวนสอบสวน และไต่สวนได้ ซึ่งบัญญัติเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 224 วรรคสอง กำหนดให้อำนาจกกต.สืบสวนสอบสวนได้เลย และ 6. มาตรา 70 บัญญัติให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยกกต.เห็นว่า มาตราดังกล่าวขัดหลักนิติธรรม และนิติประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ไม่ตรงตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ประกอบมาตรา 26 และมาตรา 27

Advertisement

“กกต.จะส่งหนังสือแย้ง และเอกสารประกอบส่งไปยังสนช.ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ส่วนจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เบื้องต้นยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งต้องให้กระบวนการเป็นไปตามขั้นตอน สำหรับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นัดหารือกกต.ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ทางกกต.ได้ส่งนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เป็นตัวแทนไปร่วมหารือในการชี้แจงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเพียงการหารือร่วมกับกรธ.เท่านั้น ผลการพิจารณาไม่เป็นผลผูกพันกับกกต. เนื่องจากกกต.ยังไม่ได้มีการพิจารณาร่างดังกล่าวในที่ประชุมกกต. และยังมีมีมติแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าวจากสนช.”นายภูมิพิทักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาข้อโต้แย้งในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ที่จะส่งให้สนช. 6 ประเด็น ที่ประชุมกกต. มีมติเอกฉันท์ 5 ประเด็น มีเพียงประเด็นเรื่องคุณสมบัติของกกต. ที่มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง โดยเสียงข้างมาก 3 คน คือ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ส่วน 2 เสียงข้างน้อย คือ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และนายประวิช รัตนเพียร ซึ่งเหตุที่กกต.ทั้ง 2 คนไม่เห็นด้วยในเรื่องคุณสมบัติกกต. เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image