วธ.ตั้งอนุกก.กฎหมายและอนุกก.จัดทำข้อมูล พร้อมทีมเจรจาทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยฯ นัดแรก ว่า จากข้อมูลการการส่งคืนโบราณวัตถุต่างประเทศกลับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2508-2560 ในระยะเวลา 52 ปี ได้รับโบราณวัตถุคืนจากต่างประเทศ 19 ครั้ง จำนวน 1,024 รายการ ส่วนสถิติการได้รับโบราณวัตถุคืนจากสหรัฐ ตั้งแต่ 2510 – 2558 ได้รับคืน 14 ครั้ง 851 รายการ และในช่วง 2548 ปี จนกระทั่งถึงปี2557 ในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับคืน 554 รายการ โดยครั้งแรกเป็นโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคบ้านเชียง และปี 2558 ได้รับคืนมาอีก 2 ครั้ง 76 รายการ รวมแล้วกว่า 600 รายการ

นายวีระ กล่าวต่อว่า การทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างประเทศดำเนินการมานานแล้ว โดยได้จัดทำเอกสารโบราณวัตถุของไทยที่จัดแสดงในสหรัฐ ซึ่งทางกรมศิลปากร ได้รับความร่วมมือจากสถานทูต และนักวิชาการต่างๆ รวมถึงได้ส่งนักวิชาการลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณวัตถุที่ได้รับเบาะแสจากประชาชน โดยพบว่ามี 20 พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ มีโบราณวัตถุไทยจัดแสดง 133 รายการ เป็นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และทับหลังต่างๆ ซึ่งในที่ประการประชุมได้มีการแสดงความเห็นและอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยจะให้กรมศิลปากรดำเนินการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้าส่งออกและโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (ยูเนสโก 1970) ซึ่งจะต้องมีกฎหมายภายในประเทศรองรับ ทั้งนี้ กรมศิลปากรจะต้องปรับปรุง พ.ร.บโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ฉบับแก้ไขปปรับปรุง ปี 2535 รวมถึงจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการดูแลกฎหมายของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

นายวีระ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อมูลโบราณวัตถุในต่างประเทศ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลโบราณวัตถุของประเทศไทยที่สูญหายและอยู่ในประเทศต่างๆ คาดว่าจะมีมากกว่า 133 รายการ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการทวงคืนโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แถบยุโรป ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ(กต.)รับข้อเสนอและจะประสานให้สถานทูตประเทศต่างๆ สอดส่องพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ ขณะเดียวกันในอนาคตประเทศไทยจะต้องทำความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ในการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุที่สูญหาย นอกจากนี้จะตั้งทีมติดตามผลการเจรจาการทวงคืนโบราณวัตถุ ซึ่งต้องมีความรอบรู้ด้านกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงศิลปวัฒนธรรม

” ถึงแม้ไทยจะยังไม่เป็นภาคีสมาชิกยูเนสโก 1970 แต่จะเดินหน้าการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ ตามหลักการถ้าผู้เป็นเจ้าของแสดงหลักฐานชัดเจน เช่น ทับหลังปราสาทเขาโล้น และปราสาทหนองหงส์ มีภาพถ่ายชัดเจน ถิ่นกำเนิดในไทย สหรัฐก็อาจจะช่วยติดตามกลับมาได้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือกับอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) หรือ HSI สหรัฐอเมริกา โดยทางสหรัฐได้รับทั้ง 133 รายการไปตรวจสอบ “นายวีระกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image