“อาคม” แจงม.44 ไฮสปีดไทย-จีน ไม่ได้ลัดขั้นตอน-ยันคุ้มค่า วัสดุก่อสร้างใช้ของไทย100%

ภาพประกอบ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดแถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่กระทรวงคมนาคมโดยชี้แจงกรณีข้อคำถามของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นคราชสีมา-หนองคาย ลัดขั้นตอนว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้ลัดขั้นตอน โดยตั้งแต่มีการลงนามความร่วมมือกันมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557จนถึงปัจจุบันก็ได้มีการหารือ ตามขั้นตนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุมร่วมกันมาแล้วถึง 18 ครั้ง ส่วนกรณีมีคำถามจะทับซ้อนกับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นหรือไม่นั้น ก็ยืนยันว่า ทั้ง 2 เส้นทางเป็นคนละโครงการ ใช้เทคโนโลยีคนละระบบกัน ดังนั้นคงไม่สามารถที่จะใช้รางร่วมกันได้ ขณะเดียวกันก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่บางช่วงจะมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นใช้แนวเส้นทางเดียวกัน เพราะในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ก็มีรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นที่วิ่งคู่ขนาดกันไปเป็นระยะทางไกลมาก แต่ไปคนละเมือง

“เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ได้รายงานเพื่อทราบให้ที่ประชุมครม.เกี่ยวกับเรื่องที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เสนอใช้ ม.44 เพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งนอกจากรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว ทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้นำเสนออะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว”นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า เรื่องของรถไฟความเร็วสูงดำเนินการมาแล้ว 2 รัฐบาล แต่รัฐบาลชุดนี้กำหนดให้เป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ และถือเป็นเรื่องของการขนส่งระหว่างประเทศ ต่อไปเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้แล้วก็จะเกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชน 3 ประเทศ คือ จีน ลาว และไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางไปเที่ยวจีนก็สามารถนั่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ด้านโลจิสติกส์นั้น การขนส่งทางรถไฟถือว่ามีต้นทุนที่ถูกที่สุด ดังนั้นการเชื่อมโยง 3 ประเทศ ก็จะลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ด้วย เกิดการเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน ซึ่งถือเป็นแนวทางของทุกประเทศในโลกที่ต้องการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว

“เรื่องการพัฒนารถไฟความเร็วสูงผมได้ยินมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว เพื่อเชื่อมคุนหมิง เวียงจันทร์ กทม. จากนั้นก็จะเชื่อมต่อไปมาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เกิด หากเกิดขึ้นจริงก็จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศได้”นายอาคม กล่าวและ ด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจนั้นไม่อยากให้คิดเฉพาะเรื่องของการเก็บค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้คิดถึงการเติบโตของเศรษฐกิจของพื้นที่ที่รถไฟความเร็วสูงผ่านด้วย เพราะจะสร้างการเติบโตมหาศาล ซึ่งการพัฒนาพื้นที่สองข้างทาง รวมถึงบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟนั้นทางไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเองหมด ไม่ได้ยกให้จีนแต่อย่างใด ในส่วนของผู้รับเหมาก็ได้ยืนยันกับทางจีนว่าจะต้องเป็นผู้รับเหมาไทย รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างก็จะต้องใช้ของไทย ยกเว้นระบบและขบวนรถที่จะต้องใช้ของจีนเท่านั้น
“วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างใช้ของในไทย 100% เพราะเรามีทุกอย่าง โดยในส่วนของงานก่อสร้างคิดเป็น 75% ของกรอบวงเงินลงทุนโครงการ 179,412 ล้านบาท ส่วนอีก 25% เป็นเรื่องราง ระบบอาณัติสัญญาณและขบวนรถ ก็จะใช้จากจีนแน่นอน”นายอาคม กล่าวและว่าโครงการนี้ตั้งเป้าหมายจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒนฯ พิจารณารายละเอียดและอนุมัติโครงการก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีการนัดประชุมวันไหน จึงไม่แน่ใจว่าจะนำเสนอทันหรือไม่ หากไม่ทันในเดือนมิถุนายน ก็อาจจะต้องเลื่อนไปเสนอในเดือนกรกฎาคมแทน

Advertisement

นายอาคม กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีนให้ไทยว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาตนได้ประชุมผ่านทางไกลกับฝ่ายจีนเป็นการเร่งด่วน เพื่อขอให้มีการนำข้อกำหนดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยเข้าไปบรรจุในข้อสัญญาของสัญญาทั้ง 3 ฉบับที่ไทยจะต้องลงนามกับจีน ประกอบด้วย สัญญาการออกแบบก่อสร้าง ,สัญญาการจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน และสัญญาการจัดหาระบบตัวรถ อาณัติสัญญาณ การซ่อมบำรุง รวมไปถึงการฝึกอบรวิศวกรและสถาปนิกคนจีนที่จะเข้ามาคุมงานก่อสร้าง ซึ่งฝ่ายจีนก็ยินยอม

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีปัญหาเรื่องการสอบวิชาชีพวิศวกร และสถาปนิกว่า ตามม.44 มีการยกเว้นให้วิศวกรและสถาปนิกจากจีนไม่ต้องสอบเพื่อขอใบประกอบวิชาชีพ แต่เพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพ กระทรวงคมนาคมจะจัดให้มีการอบรมความรู้เบื้องต้นแก่ฝ่ายจีนด้วย โดยขณะนี้กำลังจัดทำหลักสูตรร่วมกับสภาวิศกรและสภาสถาปนิกเพื่อให้ความรู้เบื้องต้น เช่น การอบรมความรู้เกี่ยวกับเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ของไทย ระบบกฎหมายของไทย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image