เรื่องของความเป็นรัฐ (state) ของไต้หวัน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ประเทศไต้หวันมีเนื้อที่ 35,980 ตร.กม. พลเมือง 25 ล้านคน

สาธารณรัฐปานามาเป็นประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคอเมริกากลาง มีเนื้อที่เพียง 14,177 ตารางกิโลเมตร มีประชากรแค่สี่ล้านห้าหมื่นคนเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือมีคลองปานามาอันเป็นคลองที่เชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก จัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากของโลกทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของโลก ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไต้หวันเมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายนปีนี้เอง และหันมาสถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทน โดยรัฐบาลปานามาระบุว่าได้ยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” และจะถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่เนื่องจากสาธารณรัฐจีนนั้นถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลที่แยกออกไป และยืนยันว่าไต้หวันต้องมารวมตัวกับแผ่นดินใหญ่ในอนาคต

ปานามาถือเป็นประเทศล่าสุดที่เบนเข็มความสัมพันธ์ทางการทูตมาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแทนไต้หวัน หลังจากที่ประเทศเซาตูเมและปรินซิปีซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในอ่าวกินีทวีปแอฟริกาได้ถูกตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางการประเทศเซาตูเมและปรินซิปี
ได้เรียกร้องเงินช่วยเหลือกินเปล่าจำนวนมหาศาลต่อไต้หวันเพื่อเป็นค่ารักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เพราะว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนดำเนินนโยบายต่างประเทศ “จีนเดียว” นั่นเอง

ดังนั้นในขณะนี้ไต้หวันจึงเหลือเพียง 20 ประเทศเท่านั้นที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้ว ถึงแม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่บรรดาประเทศกว่า 46 ประเทศ ที่ไม่ได้รับรองสถานะของความเป็นรัฐของไต้หวันก็ยังมี “สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป” หรือ “สำนักงานตัวแทนไทเป” ซึ่งปฏิบัติงานต่างๆ ในลักษณะเดียวกับสถานทูต เช่น การออกวีซ่า เป็นต้น และในทำนองเดียวกัน หลายประเทศก็ได้จัดตั้งสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจขึ้นในไต้หวัน เช่น สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย และสถาบันอเมริกาในไต้หวัน ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วก็คือสถานทูตของประเทศต่างๆ นั่นเอง

ปัจจุบันไต้หวันยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 20 ประเทศในโลก คือ เบลีซ, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, นิการากัว, ปารากวัย, เฮติ, เซนต์คิตส์และ เนวิส, เซนต์ลูเซีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์,
บูร์กินาฟาโซ, สวาซิแลนด์, คิริบาส, หมู่เกาะมาร์แชลล์, นาอูรู, ปาเลา, หมู่เกาะโซโลมอน, สาธารณรัฐโดมินิกัน, ตูวาลู และนครรัฐวาติกัน

Advertisement

ไต้หวันมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เนื่องจากกรอบนโยบายจีนเดียว ไต้หวันจึงให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ในกรอบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกับประเทศต่างๆ ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ เมื่อ พรรคคอมมิวนิสต์จีน รบชนะสงครามกลางเมืองในจีนเข้ามามีอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ พ.ศ.2492 พรรคก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นฝ่ายแพ้ก็พาผู้คนอพยพหนีออกจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน เพื่อวางแผนกลับไปครองอำนาจในจีนต่อไป มีชาวจีนมากกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน อพยพตามมาอยู่ที่เกาะไต้หวันในยุคที่ เหมา เจ๋อตุง มีอำนาจเต็มที่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้นำของประเทศทั้งสอง จีนคือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กับผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งบนเกาะไต้หวัน แย่งกันเป็นกระบอกเสียงของประชาชนจีนในเวทีโลก แต่เสียงของนานาประเทศส่วนใหญ่เกรงอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่จึงให้การยอมรับจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า

ในปี พ.ศ.2514 ก่อนที่ นายพล เจียง ไคเช็ก ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งจะถึงแก่อสัญกรรมไม่กี่ปี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การสหประชาชาติได้สูญเสียสมาชิกภาพในฐานะประเทศตัวแทนชาวจีนให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ.2521 สหประชาชาติก็ประกาศรับรองจีนเดียวคือจีนแผ่นดินใหญ่และตัดสัมพันธ์ทางการเมืองกับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ด้วย มติสมัชชาสหประชาชาติที่ 2758 (General Assembly Resolution 2758) อีกทั้งสหรัฐอเมริกาก็ได้ถอนการรับรองว่าสาธารณรัฐจีนมีฐานะเป็นรัฐอีกด้วย ไต้หวันจึงกลายเป็นเพียงดินแดนที่จีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตามไต้หวันก็ยังคงสภาพเป็นรัฐ (state) อย่างสมบูรณ์ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย เนื่องจากมีองค์ประกอบของรัฐครบทั้ง 4 ประการคือ 1) มีดินแดนที่แน่นอน 2) มีประชากร 3) มีรัฐบาล และ 4) มีอำนาจอธิปไตย ตามอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอ ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the states) มาตราที่ 1 ว่ารัฐคือนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแจ้งชัด ส่วนการรับรองรัฐจากนานาประเทศต่อไต้หวันนั้นก็ได้ลดน้อยลงตามลำดับ

หลี่ เติงฮุย จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์เกษตร

เมื่อ เจียง ไคเช็ก ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.2518 ลูกชายที่ชื่อ เจียง จิ้งกว๋อ ได้เป็นผู้สืบทอดการ
ปกครองไต้หวันต่อและเริ่มกระบวนการวางรากฐานไต้หวันไปสู่ประชาธิปไตย (เดิมเป็นเผด็จการ)

หลังจากที่ ประธานาธิบดีเจียง จิ้งกว๋อ เสียชีวิต ไต้หวันจึงได้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ประธานาธิบดีคนใหม่ผู้เกิดในไต้หวันชื่อ หลี่ เติงฮุย ขึ้นบริหารประเทศโดยการสนับสนุนของนายเจียง จิ้งกว๋อ โดยที่หลี่ เติงฮุยนั้นเคลื่อนไหวสนับสนุนการประกาศเอกราชไต้หวันโดยแยกเป็นประเทศไต้หวันต่างหากจากประเทศจีนไปเลย ช่วงเวลาที่นายหลี่ เติงฮุย เป็นประธานาธิบดี การเมืองของไต้หวันเกิดการแตกแยกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1)พวกก๊กมินตั๋งที่อพยพเข้ามาอยู่ไต้หวันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ต้องการกลับไปรวมประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่ (รวมเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้ระบบการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบของไต้หวันตามแบบฮ่องกง)

2)พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าคือพวกที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนไต้หวันที่เป็นชาวฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาอยู่ที่ไต้หวันนับร้อยปีก่อนการอพยพมาของพวกก๊กมินตั๋งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

3)พวกที่ต้องการดำรงฐานะของประเทศไว้ดังเดิมต่อไป

ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน

ปัจจุบันพรรคการเมืองประชาธิปไตยก้าวหน้าของชาวไต้หวันฮกเกี้ยนมีผู้นำเป็นสตรีชื่อ น.ส.ไช่ อิงเหวิน ก็ยังคงเดินหน้าตามนโยบายที่จะให้ไต้หวันเป็นประเทศเอกราชโดยไม่เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image