คมนาคมเดินหน้าทางด่วน เชื่อมสู่ภาคใต้

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ได้อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษในเขตเมืองย่านพระราม 3 ไปยังโครงข่ายหลักในการเดินทางสู่ภาคใต้โดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางและขนส่งสินค้า และสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงคมนาคม โดยการนำของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ รวมทั้งเป็น 1 ใน 6 โครงการระยะเร่งด่วนตามแผนการพัฒนาระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครไปยังภาคใต้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันเส้นทางหลักในการเดินทางจากกรุงเทพมหานครลงสู่ภาคใต้จะใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสะพานพระราม 9 ไปบรรจบกับถนนพระราม 2 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35) บริเวณดาวคะนอง และใช้ถนนพระราม 2 เดินทางสู่ภาคใต้ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวมีปริมาณจราจรที่หนาแน่นและเริ่มเกิดความแออัดของปริมาณจราจรบนโครงข่ายถนนสายหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนและช่วงเทศกาลต่างๆ ในขณะที่เส้นทางจากบางแค ไปตามถนนเพชรเกษม นครปฐม เพื่อลงใต้ก็มีปัญหาจราจรที่ค่อนข้างจะแออัดไม่น้อยเช่นกัน

แนวสายทางและรูปแบบของโครงการ

Advertisement

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกโดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.13+000 ของถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระราม 3ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช รวมระยะทางประมาณ 18.7 กิโลเมตร ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร (ทิศทางละ 4 ช่องจราจร) ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 หรือสะพานแขวนในปัจจุบัน โครงการมีทางขึ้น-ลง 7 แห่ง คือ ถนนพระราม 2 ซอย 84 ใกล้ชุมชนบางกระดี่, ซอย 69 ใกล้ถนนบางขุนเทียน, ซอย 50 ใกล้วัดเลา, ซอย 33 ใกล้วัดยายร่ม, ซอย 27 ใกล้ถนนพุทธบูชา, ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านบางโคล่

มูลค่าลงทุนโครงการ

โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น จำนวน 31,244 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 807 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) จำนวน 30,437 ล้านบาท โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จะขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่วนค่าก่อสร้างจะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) ที่จัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงคมนาคม และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะใช้โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) โครงการบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และโครงการทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่งเป็นโครงการที่มีศักยภาพสามารถนำมาระดมทุนผ่านกองทุน TFF และนำเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าวมาใช้ในการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในเดือนมีนาคม 2564

Advertisement

การจัดเก็บค่าผ่านทาง

        ส่วนระบบเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบปิด (Closed System) โดยรับบัตรที่ทางขึ้นและจ่ายค่าผ่านทางที่ทางลง เก็บค่าผ่านทางอัตราเดียว (Flat Rate) โดยในปีที่เปิดให้บริการ จัดเก็บค่าผ่านทางดังนี้

– ผู้ใช้ทางพิเศษทั้ง 2 ช่วง คือ ช่วงวงแหวนตะวันตก-ดาวคะนอง และช่วงดาวคะนอง-พระราม 3

รถ 4 ล้อ ราคา 60 บาท

รถ 6-10 ล้อ ราคา 120 บาท

รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 180 บาท

– ผู้ใช้ทางพิเศษช่วงเดียว (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก-ดาวคะนอง หรือดาวคะนอง-พระราม 3

รถ 4 ล้อ ราคา 30 บาท

รถ 6-10 ล้อ ราคา 60 บาท

รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 90 บาท

– ผู้ใช้ทางพิเศษผ่านด่านสุขสวัสดิ์

รถ 4 ล้อ ราคา 10 บาท

รถ 6-10 ล้อ ราคา 20 บาท

รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 30 บาท

การขยายโครงข่ายทางพิเศษครั้งนี้ จะสามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการเดินทางเชื่อมโยงสู่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงสุขสวัสดิ์-ดาวคะนอง และสะพานพระราม 9 ซึ่งรองรับปริมาณจราจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก ใช้เป็นเส้นทางทดแทนในกรณีที่สะพานพระราม 9 ต้องปิดซ่อมบำรุงใหญ่เนื่องจากใช้มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์อุทกภัย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image