‘เทเลนอร์ ยูธ ฟอรัม’ ปูทางเยาวชนสร้าง’โลกใหม่’

ปราชญ์หลายท่านบอกว่า โลกของเยาวชนคนหนุ่มสาว แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับโลกของผู้ใหญ่

ในวัยหนุ่มสาว โลกไม่เพียงสดใส มีชีวิตชีวา กระจ่างชัดเจนเท่านั้น หากแต่ยังเปี่ยมด้วยพลัง ราวกับมี “น้ำพุ” แห่งวัยเยาว์ก่อกำเนิดพลังงานหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด

คนหนุ่มคนสาว มองโลกต่างออกไปจากโลกแห่งความซับซ้อน สับสน หรือบางคราวถึงกับหม่นหมองของผู้ใหญ่ทั้งหลาย นวัตกรรมหลากสิ่งหลายอย่างที่ “เปลี่ยนโลก” ให้ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เกิดขึ้นภายใต้พลังไม่มีที่สิ้นสุด และจินตนาการไร้ขีดจำกัดของคนหนุ่มสาวเหล่านั้น

ลาร์รี เพจ, เซอร์เก บริน หรือแม้กระทั่ง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ล้วนเป็นตัวอย่างเปี่ยมอานุภาพของข้อเท็จจริงนี้

Advertisement

ศักยภาพของเยาวชนจึงไม่พึงดูแคลนโดยเด็ดขาด

ความท้าทายเพียงอย่างเดียวของวัยหนุ่มสาวก็คือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถแปรเปลี่ยนจินตนาการกว้างไกลและพลังไร้ขีดจำกัดเหล่านั้นให้เป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

ผมเชื่อว่า “เทเลนอร์ ยูธ ฟอรัม-ทีวายเอฟ” โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค กับ ศูนย์สันติภาพโนเบล คือหนึ่งในช่องทางเพื่อการนั้น

Advertisement

“ทีวายเอฟ” ไม่ได้เป็นโครงการชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่ถูกออกแบบมาเพื่อหล่อหลอม ข้อมูล ทักษะความรู้ แนวความคิด และการเรียนรู้วิธีการแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีเต็ม ภายใต้การให้คำปรึกษาของผู้รู้จากองค์การระหว่างประเทศและอื่นๆ อาทิ ยูนิเซฟ, อินเตอร์บริดจ์, กาชาดสากล, เทคฟิวจีส์ และสำนักวิจัยเทเลนอร์

ปิดท้ายด้วยการได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในงานประกาศผลรางวัล สันติภาพโนเบล ปี 2017

ในปีนี้ เยาวชนไทยทั้งหญิงชาย (20-28 ปี) ที่มีโลกทรรศน์ มีวิสัยทัศน์และมีพลังสร้างสรรค์ ยังสามารถสมัครร่วมโครงการได้จนถึง 31 กรกฎาคมนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.telenor.com/youthforum/

เงื่อนไขข้อจำกัดมีน้อยมาก เข้าไปอ่านดูได้ นอกจากความรู้เรื่องภาษาอังกฤษระดับดีแล้ว ดีแทคและเทเลนอร์เน้นในเรื่องของการมี “ความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น” เท่านั้น

ดีแทคและเทเลนอร์ ใช้โอกาสในการเปิดรับสมัครดังกล่าวนี้ สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนเอเชีย (15-30 ปี) ว่าด้วยเทคโนโลยีและผลกระทบต่อสังคม จาก 6 ประเทศ คือ บังกลาเทศ, พม่า, อินเดีย, มาเลเซีย, ปากีสถาน และไทย ภาพรวมของความคิดเห็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้น่าสนใจทีเดียว

ตัวอย่างเช่น เด็กและเยาวชนไทย มากถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ให้ความสำคัญมากที่สุดต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ-โลกร้อน รองลงมาคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน (14 เปอร์เซ็นต์) มากพอๆ กับเรื่องการแก้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพจิต (14 เปอร์เซ็นต์)

ในระดับภาพรวมทั้ง 6 ประเทศ เรื่อง การสร้างโอกาสให้เท่าเทียมกันด้านการเข้าถึงการศึกษา เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้รับความสำคัญสูงสุด (48 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือเรื่องโลกร้อน (28 เปอร์เซ็นต์)

เมื่อถูกถามความเห็นว่า เทคโนโลยีใดมีศักยภาพสูงสุดในอันที่จะสร้างสันติภาพได้ เยาวชนไทยให้ความสำคัญต่อ เทคโนโลยี “ความเป็นจริงเสมือน” (เวอร์ฌวล เรียลิตี้) สูงสุด (57 เปอร์เซ็นต์) ต่อด้วย “อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (ไอโอที) 29 เปอร์เซ็นต์ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจใน 6 ประเทศ ที่ให้ความสำคัญสูงกับ 3 เทคโนโลยีนี้เช่นเดียวกัน

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ แนวโน้มที่คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและมุ่งมั่นในการเป็น “ผู้ประกอบการ” เอง ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ผลสำรวจในปีนี้แสดงให้เห็นว่า ระดับความคิดเห็นเรื่องนี้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดย 43 เปอร์เซ็นต์ ของหนุ่มสาวไทยเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในเรื่องนี้ ในขณะที่ภาพรวม 6 ประเทศก็มีอยู่สูงถึง 37 เปอร์เซ็นต์

47 เปอร์เซ็นต์ ของเยาวชนทั้ง 6 ประเทศ เชื่อว่าผู้นำประเทศในปัจจุบันควรลงทุนในการ “พัฒนาระบบการศึกษาโดยรวม” โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ให้ทุกคนมีโอกาสและสามารถเข้าถึง” การศึกษาได้เท่าเทียมกัน อีก 39 เปอร์เซ็นต์ ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึง “แพลตฟอร์มที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอแนวคิดดิจิทัล” และ “เริ่มดำเนินการตามความคิดริเริ่ม” เหล่านั้น

พวกเขายังคงมุ่งมั่นในการรังสรรค์โลกใหม่ที่ดีกว่าใบเดิมของผู้คนรุ่นเก่าก่อนอย่างเต็มเปี่ยมจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image