กก.3 ฝ่ายเยือน ‘ป้อมมหากาฬ’ พิสูจน์คุณค่า 2 วันรวด หวังจบสวยหลังยืดเยื้อ 25 ปี

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการลงพื้นที่เพื่อพิจารณาคุณค่าบ้านในชุมชน โดยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ 2.ฝ่ายกทม. นำโดย นายยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่ากทม. และนายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่า กทม. ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา เป็นต้น 3.ฝ่ายทหาร โดย พันโทโชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินงานดังกล่าว เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจร่วมกัน จากนั้นชาวบ้านและนักวิชาการ นำชม “ตรอกนกเขา” เพื่ออธิบายถึงประวัติและความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว

นายธนภล วัฒนกุล จากสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ศิลปากร กล่าวว่า ตรอกนกเขา ตั้งอยู่ตรงกับ “ประตูช่องกุด” ซึ่งเป็นทางเข้าออกตั้งแต่อดีต เดิมเรียกว่า “ตรอกถ่าน” เพราะเป็นตรอกที่ใช้ขนถ่ายถ่านไม้ขึ้นจากท่าเรือบริเวณริมคลองโอ่งอ่าง
ต่อมาในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนเป็นตรอกนกเขา เนื่องจากมีการทำกรงนกเขาตามแนวคิดของรัฐบาลในยุคนั้น พื้นที่บริเวณตรอกนี้จึงมีความสำคัญและคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์อย่างมาก
ระหว่างคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเดินศึกษาพื้นที่อยู่นั้น นายไพบูลย์ ตุลารักษ์ ชาวบ้านที่มีอาชีพทำกรงนกเขา ได้นำเอกสารการออกเลขที่บ้านเมื่อ พ.ศ.2532 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนออกพรฎ.เวนคืน มาแสดงให้คณะกรรมการชม

Advertisement

จากนั้น นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ พาคณะฯไปยังริมคลองโอ่งอ่าง ที่เชื่อมกับคลองมหานาค เพื่ออธิบายถึงคุณค่าด้านวิถีชีวิตที่สืบเนื่องจากในอดีตที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนประวัติศาสตร์อื่นๆโดยรอบ ซึ่ง แต่เดิมมีการพายเรือออกมา “เปีย” หรือประมูลผลไม้บริเวณท่าเรือใกล้สะพานมหาดไทยอุทิศ ใกล้กับชุมชนป้อมมหากาฬ โดยในสมัยที่ตนยังเด็ก เคยสัมผัสบรรยากาศดังกล่าว เป็นภาพชีวิตที่อยู่ในความทรงจำ

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง สะท้อนถึงการวางผังเมืองตามหลักยุทธศาสตร์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การเก็บ “พื้นที่” จึงมีความสำคัญ ไม่ใช่การเก็บเพียงตัวบ้านเป็นหลังๆเท้านั้น

Advertisement

ต่อมา คณะกรรมการ 3 ฝ่าย ร่วมศึกษาพื้นที่บริเวณ “ตรอกพระยาเพชรปาณี” ซึ่งตั้งชื่อตามวิกลิเกสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏหลักฐานทั้งในเอกสารและภาพถ่ายเก่า ก่อนเดินย้อนมายังลานกลางชุมชนซึ่งเป็นที่ตั้งของ “บ้านเลขที่ 99” โดยเป็นเรือนไม้โบราณ 1 ใน 2 หลังที่มีข้อตกลงเห็นพ้องร่วมกันในที่ประชุมก่อนหน้านี้ว่าให้อนุรักษ์

นางสุดจิตร เศวตจินดา สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า พื้นที่ตรงนี้มีความร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ และองค์ประกอบต่างๆครบถ้วน สมบูรณ์ รายล้อมด้วยบ้านคนธรรมดาที่เป็นส่วนหนึ่งของการก่อร่างสร้างเมือง บ้านเหล่านี้ เรียกว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” สะท้อนภูมิปัญญาที่ตกผลึกและมีคุณค่ายิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงพื้นที่ในช่วงเช้าเป็นไปอย่างราบรื่น กลุ่มนักวิชาการแจกเอกสาร 2 ชุดได้แก่ เอกสารรายละเอียดบ้านแต่ละหลังเพื่อประกอบการพิจารณา และเอกสารคุณค่าทั้ง 5 ด้านของบ้านแต่ละหลัง รวมถึงมีการนำภาพและข้อมูลบ้านติดไว้บริเวณหน้าบ้านที่จะมีการพิจารณา ส่วนฝ่ายกทม. มีการแจกเอกสารสรุปสาระสำคัญการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายจะมีการดำเนินการต่อเนื่องจากช่วงเช้า และจะลงพื้นที่ต่อเนื่องอีกในวันพรุ่งนี้ (22 มิ.ย.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image