’ล้อมคอก’ žเหตุร้าย เปิดมาตรการรักษาความปลอดภัยผู้โดยสารรถไฟฟ้า

นับเป็นเหตุการณ์ ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์Ž กล่าวถึงและแสดงความคิดเห็นกันมากมายในโลกออนไลน์ เหตุการณ์เขย่าขวัญคนกรุง เมื่อผู้โดยสารหญิงพลัดตกลงในรางรถไฟฟ้าของแอร์พอร์ตลิงก์ ที่สถานีทับช้าง แขวงและเขตประเวศ กรุงเทพฯ ทราบชื่อต่อมา น.ส.รสรินทร์ เปลี่ยนหล้า อายุ 31 ปี
ชาว จ.น่าน ถูกรถไฟทับจนแขนขวาขาด นอนคว่ำหน้าเสียชีวิต ตายพร้อมกับลูกน้อยในท้องอายุครรภ์ 6 เดือน เหตุเกิดเมื่อ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

วันเดียวกัน ช่วงคาบเกี่ยวกันในตอนเช้า ที่ชานชาลาสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แขวงสีลม ผู้โดยสารหญิง วัย 59 รายหนึ่ง เกิดหลุดลงไปติดค้างตรงช่องว่างระหว่างขบวนรถกับชานชาลาสถานี โชคดีที่ช่วยเหลือทัน

ก่อนหน้านี้ยังเกิดเหตุที่ทำให้คนกรุงต้องตื่นตระหนักอีกเช่นกัน เมื่อเหล็กโครงสร้างนั่งร้านของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหล่นลงมาบนถนนจรัญสนิทวงศ์ขาเข้า บริเวณกลางแยกบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย โชคดีที่นั่งร้านเนื้อเหล็กไม่หล่นใส่รถยนต์หรือประชาชนบริเวณนั้น

ด้วยเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงทั้งหมดเหล่านี้ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมถึงกระทรวงคมนาคม ต้องออกมาเข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยบนสถานีรถไฟฟ้าทุกแห่งมากยิ่งขึ้น

Advertisement

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ออกมาย้ำอีกครั้งว่า สั่งการให้รถไฟฟ้าทุกสายไม่ว่าจะเป็นแอร์พอร์ตลิงก์ รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที รวมถึงรถไฟฟ้าบีทีเอส ต้องเข้มงวดในเรื่องของความปลอดภัยมากขึ้น ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารตลอดระยะเวลาการให้บริการ และต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในทุกสถานี แม้ว่าในบางสถานีจะมีจะมีประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติแล้วก็ตาม

“กรณีรถไฟฟ้าบีทีเอส แม้จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม แต่ในเมื่อเป็นบริการขนส่งสาธารณะทางกระทรวงได้ขอความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน บีทีเอสก็ให้ความร่วมมืออย่างดีŽ”

ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า สำหรับรถไฟฟ้าของ รฟม. ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที จะมีประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติที่ทำปิดไปถึงเพดานสถานี หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จะมีประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติสูงถึง 1.50 เมตร การที่จะพลัดตกลงไปจึงว่าเป็นไปไม่ได้ จะแตกต่างจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่ไม่มีประตูกั้นเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอสในอดีต แต่ปัจจุบันบีทีเอสได้ติดตั้งประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติที่ชานชาลาแล้ว แต่ยังไม่ครบทุกสถานี

Advertisement

“สมัยก่อนในต่างประเทศไม่มีการติดตั้งประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติที่สถานีเช่นเดียวกัน เช่น ฮ่องกง หรือกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่หลังๆ มีกรณีคนพลัดตกหล่นหรือแม้กระทั่งตั้งใจกระโดดฆ่าตัวตาย จึงมีการปรับปรุงติดตั้งเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนของ รฟม.ติดตั้งตั้งแต่การก่อสร้างเลยŽ”

ขณะที่ นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ รฟท. ยืนยันว่า รฟท.มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟคอยประจำอยู่ทุกสถานีทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่คอยกำชับให้ผู้โดยสารอย่ายืนล้ำเส้นความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในแต่ละสถานี มีการประกาศเตือนผู้โดยสารตลอดเวลาจึงสามารถป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนบนขบวนรถไฟที่ไม่ประตูปิดคือรถไฟชั้น 3 นั้น จะมีเจ้าหน้าที่คอยแจ้งเตือนไม่ให้ผู้โดยสารไปยืนบริเวณประตู เพื่อป้องกันการพลัดตกจากขบวนรถ ที่ผ่านมาก็พบว่ามีการไปยืนสูบบุหรี่ หรือนั่งบริเวณบันไดอยู่ก็จะต้องเข้มงวดมากขึ้น

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยว่า ได้สั่งการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ชานชาลาบนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ทุกแห่งอีกฝั่งละ 1 คน จากเดิมมี 2 คน ยืนประจำด้านหัว และท้ายสถานีที่ขบวนรถจะเข้ามาจอด ให้เจ้าหน้าที่ยืนอยู่ตรงกลางด้วยอีก 1 คน เพื่อคอยสังเกตผู้โดยสารที่จะล้ำเข้าไปในเส้นเหลือง กำชับให้เจ้าหน้าที่สอดส่องดูพฤติกรรมหรือสังเกตอาการของผู้โดยสารเข้าใช้บริการทุกคนให้มากขึ้น ใครมีอาการอ่อนล้าจะเป็นลม หรือต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยจะเข้มงวดมากขึ้น คือ 1.การเข้มงวดภายในสถานีและขบวนรถไฟฟ้า เมื่อพบเหตุการณ์ไม่ปกติจะกดปุ่มฉุกเฉินทั้งบนขบวนรถและในสถานี และ 2.ในช่วงเวลาเร่งด่วน ทั้งเช้าและเย็นที่มีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่น จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบนชานชาลา รวมถึงช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร หากพบมีผู้โดยสารบนสถานีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะกั้นไม่ให้ขึ้นไปชั้นบนอีก จากนั้นค่อยทยอยให้ขึ้นไปเมื่อขบวนรถไฟมาถึง เป็นต้น ส่วนการติดตั้งประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติบนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ทั้ง 7 สถานีนั้น จะเร่งภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า จากเดิมแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561

“ที่ผ่านมาบริษัทจัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท จัดซื้อประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติติดตั้งเพิ่มเติมใน 7 สถานีที่เหลือ จากปัจจุบันมีเฉพาะชานชาลาสถานีสุวรรณภูมิเท่านั้น ได้ประกาศประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว และวันที่ 29 มิถุนายน จะเปิดซองด้านเทคนิค จากนั้นในวันที่ 27 กรกฎาคม จะเปิดให้แข่งขันเสนอราคา เมื่อได้ตัวผู้ชนะ จะเริ่มติดตั้งได้ จะเจรจากับผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เบื้องต้นอาจจะติดเป็นที่กั้นไว้ก่อนก็ได้ ยังไม่เปิด-ปิดอัตโนมัติ เมื่อวางระบบเสร็จค่อยเปิด-ปิดอัตโนมัติก็ได้ หากติดตั้งในลักษณะดังกล่าวก่อนก็จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน”Ž นายสุเทพระบุ

นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตามกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยระบุว่ารถไฟฟ้าจะต้องมีระบบประตูกั้นชานชาลา แต่เข้าใจว่าตัวกฎหมายใหม่นี้เพิ่งจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกมาใช้บังคับในปี 2556 ที่ผ่านมา กำหนดว่าโครงการรถไฟฟ้าที่สร้างใหม่ทุกโครงการจะต้องมีประตูกั้นชานชาลา เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงก็อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ แม้ว่าจะมีผู้โดยสารน้อยแต่ต้องทำที่กั้นไว้ทุกสถานีให้บริการ อย่างไรก็ตาม มองว่าแอร์พอร์ตลิงก์น่าจะสร้างเสร็จก่อนที่กฎหมายฉบับใหม่นี้จะออกมา

“ในประเด็นรถไฟฟ้าควรจะต้องมีระบบประตูกั้นชานชาลาหรือไม่ ควรจะต้องมีเป็นอย่างยิ่ง เพราะสถานีรอรถของแอร์พอร์ตลิงก์แคบ ถ้าดูจากภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เมื่อผู้โดยสารเจอแถวตั้งฉากกับตัวรถ ประกอบกับความหนาแน่นของผู้โดยสารมาก ตัวชานชาลาที่สั้น ทำให้การรอรถยิ่งเบียดเสียด อย่างในข่าวที่ปรากฏว่าผู้เสียชีวิตไม่อยากยืนใกล้ผู้อื่นหรือยืนหลบเพื่อความจำเป็นบางอย่าง ก็เพราะความหนาแน่นและพื้นที่น้อยŽ”

นายดิสพลกล่าวว่า จริงๆ แล้วอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก แต่กรณีนี้เป็นอุบัติเหตุรุนแรง เป็นเรื่องน่าเสียใจ จึงหวังว่าการจัดซื้อของแอร์พอร์ตลิงก์ ในครั้งนี้จะทำให้จัดหาผู้ชนะการประมูลได้ ส่วนการทำระบบประตูที่กั้นต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นลักษณะการให้บริการมากกว่าเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย เนื่องจากมีอุบัติเหตุคนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก ภายหลังจึงมีการติดประตูกั้นทั้งสถานีในเมืองและในรถไฟทางไกล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image