วุ่นจนเวทีสุดท้าย! เครือข่ายสุขภาพยืนยันเห็นต่าง 5 ข้อ เห็นร่วม 4 ข้อ เพิ่มเติมอีก 7 ข้อ

เครือข่ายสุขภาพฯ ยื่นข้อเสนอแก้ กม.บัตรทอง สรุป เห็นต่าง 5 ข้อ เห็นร่วม 4 ข้อ เพิ่มเติมอีก 7 ข้อ ด้าน “อ.วรากรณ์” ย้ำเดินหน้ากระบวนการ อันไหนเห็นต่างพร้อมแนบท้ายรายงานเสนอรัฐมนตรี  

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 21 มิถุนายน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. เป็นประธานเปิดประชุมเวทีปรึกษาสาธารณะ ว่า การปรึกษาสาธารณะวันนี้เป็นการนำเอาประเด็นข้อเห็นด้วย เห็นต่าง และปัญหาต่างๆ ที่ได้จากการรับฟังความเห็นผ่านทางออนไลน์ และการประชาพิจารณ์ 4 ภาคนั้นมาหารือกัน โดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบหลักประกันสุขภาพ คือ กระทรวงสาธารณสุข ภาครัฐ สปสช. ภาคประชาสังคม วิชาชีพ และภาคประชาชน โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีการโหวต ไม่มีการตัดความเห็นใครทิ้ง แต่จะส่งทั้งหมดนี้ให้กับคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พิจารณาต่อในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังประธานกล่าวเปิดการประชุมดังกล่าว ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ สช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ได้ชี้แจงรายละเอียดของการประชุม ซึ่งแบ่งเป็น 10 กลุ่ม ออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อหารือใน 17 ประเด็น โดย 14 ประเด็นเดิม และเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น 1.หลักการการออกกฎหมาย 2.ความชอบธรรมของกระบวนการยกร่าง และ 3.กระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยมีกลุ่มตัวแทนจากภาคประชาชนมีการแสดงความคิดเห็น และข้อสงสัยต่างๆ แต่ปรากฏว่ามีผู้ร่วมเข้าประชุมประมาณ 4-5 คนโดยระบุว่ามาจากเครือข่ายภาคประชาชน ไม่ยอมและเดินออกมาข้างหน้าเวทีภายในห้องประชุม พร้อมทั้งตะโกนในลักษณะไม่ยอมรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ร่าง พ.ร.บ.ที่ออกมามีประเด็นที่เกินไปจากคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้ สปสช.สามารถซื้อรวมยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ได้ จากเดิมที่ไม่สามารถทำได้ พอแก้ไขแล้วกลับไม่ได้แก้ตรงนี้ให้ สปสช.มีอำนาจ โดยเรียกร้องให้ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.มาชี้แจงก่อนที่จะมีการปรึกษาหารือกัน

โดยภาคประชาชนจัดกลุ่มย่อยกันเองในการถกประเด็นเห็นต่าง ขณะที่กลุ่มย่อย 10 กลุ่มที่แบ่งไว้ก่อนหน้านี้ก็ยังสามารถเดินต่อไปได้ เช่น ประเด็นเรื่องคุณสมบัติเลขาธิการ สปสช. การร่วมจ่ายบริการ การจัดซื้อยารวม การจ่ายเงินเยียวยา ม.41 เป็นต้น

Advertisement

ต่อมาเวลา 11.17 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดยนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นายธนดล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ได้ยื่นหนังสือต่อ นพ.พลเดช ฝากไปถึง รศ.วรากรณ์ โดยนายอภิวัฒน์กล่าวว่า ขอฝากหนังสือข้อเสนอแนะต่อการแก้ไข พ.ร.บ.บัตรทอง ในฐานะที่ รศ.วรากรณ์เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างด้วย และอยากจะบอกว่าการที่ประธานไม่ไยดี ไม่มารับหนังสือจากภาคประชาชนเช่นนี้ ก็ขอเรียกร้องให้ รศ.วรากรณ์ลาออกจากการเป็นประธานยกร่างไปเลย

นายนิมิตร์กล่าวข้อเรียกร้องว่า หนังสือดังกล่าวเป็นการชี้แจงแนวทางการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งมี 4 ประเด็นที่เห็นร่วม คือ 1.มาตรา 14 กรณีห้ามดำรงตำแหน่งสองคณะในขณะเดียวกัน หมายถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ 2.มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกินสองสมัย 3.มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน และ 4.ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ย กรณีเกิดปัญหาต่อผู้รับบริการ เมื่อมีการเยียวยาช่วยเหลือแล้วต้องไม่ไล่เบี้ยหาผู้กระทำผิด ส่วนประเด็นเห็นแตกต่างมี 5 ประเด็น คือ 1.ไม่เห็นด้วยเรื่องการเพิ่มนิยาม เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตามมาตรา 3 ที่แก้ไขนิยาม “สถานบริการ” โดยต้องเพิ่มคำนิยาม องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร 2.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 ในการแก้ไของค์ประกอบของบอร์ด สปสช. ที่ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน เนื่องจากขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ และไปลดผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นต้องเพิ่มตามเดิม เป็นต้น

นายนิมิตร์กล่าวอีกว่า 3.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่ระบุเพียงได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และเห็นว่าควรเพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย 4.ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 46 เรื่องการแยกเงินเดือน เพราะจะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และ 5.มาตรา 48(8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพและผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. ซึ่งไม่สมดุล โดยต้องเพิ่มสัดส่วนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์รวม 3 คนเข้าไปด้วย นอกนั้นอีก 7 ประเด็นเป็นข้อเสนอใหม่เพิ่ม คือ 1.แก้ไขมาตรา 5 ให้ตัดการร่วมจ่ายออกเสีย 2.มาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีเป็นกองทุนเดียว 3.แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน

Advertisement

4.แก้ไขมาตรา 18 เรื่องอำนาจของคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน 5.แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส 6.มาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหาผลกำไร 7.เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 และ 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ

นพ.พลเดชกล่าวภายหลังรับมอบหนังสือว่า ยินดีนำข้อเสนอต่างๆ ไปส่งถึงคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. ส่วนเรื่องของการจัดเวทีสมัชชานั้นถือเป็นหน้าที่ของ สช.อยู่แล้วสามารถดำเนินการได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image