พรุ่งนี้ขึ้นปีที่ 86 ประชาธิปไตย? : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

วันนี้ ครบรอบ 85 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้น 3 วัน วันที่ 27 มิถุนายน 2475 ตราพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475

พรุ่งนี้ 24 มิถุนายน 2560 ขึ้นขวบปีที่ 86

หนังสือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับแรก)” จัดพิมพ์ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” โดยชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญดังนี้

1.ประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

Advertisement

2.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475

3.ผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก จำนวน 70 คน แต่งตั้งโดย “คณะราษฎร” ได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475

4.มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

5.พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี)

6.หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ในการประชุมสภาครั้งแรก

7.รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นบรรณาการพิเศษครั้งนี้ ถ่ายทำจากต้นฉบับราชกิจจานุเบกษาโดยตรง

ข้อความและบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งยังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวอีกหลายฉบับ รวมถึงการปฏิวัติ รัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐหลายครั้ง กระทั่งถึงครั้งหลังสุด วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

แนวทางความคิดหนึ่งที่น่าจะสืบเนื่องมาคือ มาตรา 10 แห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดังนี้

สมัยที่ 1 นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนการจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกในสภา

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ปรับเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 และธรรมนูญการปกครองประเทศชั่วคราวอีกหลายฉบับ ถึงวันนี้ มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 “ฝ่ายทหาร” ยังคงอำนาจ “ชั่วคราว” แม้จะปรับเปลี่ยนให้ “ฝ่ายพลเรือน” คงอำนาจ “ชั่วคราว” บ้าง ยังประกาศชัดเจนว่าอย่างน้อยตามกำหนดในรัฐธรรมนูญต่อไปอีก 5 ปี ตั้งแต่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 จากการเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ทั้งนี้ ขอให้อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่คำปรารภ บทเฉพาะกาล และบางมาตรา รวมทั้งความเห็นของผู้บัญชาการทหารบกที่ส่งให้ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคำถาม 4 ข้อ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ประชาชนตอบระหว่างนี้ให้ถ่องแท้

แล้วจะพบคำตอบว่าทำไมธรรมนูญชั่วคราว 2475 กับยุคสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหตุการณ์จบอย่างรวดเร็วของวันที่ 14 ตุลาคม 16 และการเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 19 จึงสอดคล้องกัน-เอวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image