เวทีเสวนาข้อเท็จจริงแก้’กม.บัตรทอง’ ปลัด สธ.ลั่นน้ำตาตกใน ปัญหาระบบสะสมมานาน

เวทีเสวนาข้อเท็จจริงบัตรทอง ปลัด สธ.เปิดอก รพ.เหมือนมดงานทำงานไร้ถูกรับฟังความคิดเห็น แก้ กม.ไม่ใช่แค่ช่วยบุคลากร แต่ช่วยประชาชนทุกคน อ.วรากรณ์ย้ำพร้อมส่งความเห็นต่างแนบท้ายรายงานให้ “ปิยะสกล” อาจตั้งทีมพิจารณาเพิ่ม ขั้นตอนอีกยาว เกิดเหตุภาค ปชช.ตัดพ้อเวทีไม่ยอมฟังเสียง ปชช.

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่  21 มิถุนายน ที่ห้องประชุม BB 205 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ ได้เปิดเวทีการเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร”  โดยการเสวนาดังกล่าวยังได้ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟชบุ๊กไลฟ์ของข่าวสด โดย รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับ..) พ.ศ..กล่าวว่า จริงๆ เวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาคจบไปแล้ว เพียงแต่เวทีปรึกษาสาธารณะเป็นการจัดเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษในการระดมความคิดเห็นต่างๆ กรณีร่วมจ่ายที่เสนอใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เราไม่ได้แก้ไขเลย เพราะสำหรับการจ่ายค่าบริการบางครั้ง กรรมการอาจกำหนดให้มีการร่วมด้วย แต่คนยากไร้ไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม แม้แต่ 30 บาทก็ไม่ได้เก็บ แต่หากเราไปแก้ว่าไม่ต้องร่วมจ่าย สุดท้ายจะกระทบคนจน เพราะคนมีเงินไม่จ่าย ตัวระบบก็จะลำบาก และจะกระทบต่อคนจนแทน

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เดิมกระทรวง ก็ให้บริการประชาชนได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณโดยตรง ปัจจุบันค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 3,100 บาท โดย สปสช.เป็นคนกำหนด แต่ปัญหาคือ พ.ร.บ.ฯระบุว่าต้องเป็นการบริการโดยตรงให้ประชาชน และกำหนดอื่นๆ อย่างค่ายา ค่าทำคลอด ซึ่ง รพ.เมื่อได้รับงบมา ปริมาณงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่คนไข้เข้าถึงบริการ แต่ปัญหาคือ บุคลากรไม่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณงานเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากเดิม ทำให้ต้องจ้างพยาบาลเพิ่มขึ้น จ้างบุคลากรเพิ่มขึ้น ประกอบกับ รพ.ก็ต้องมีการใช้น้ำใช้ไฟ จึงต้องเอาเงินค่าหัวจาก สปสช.มาดำเนินการกิจการของ รพ. แต่พอสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบและทักท้วงว่า กฎหมายนี้ใช้ได้โดยตรงกับคนไข้ แต่มีหลายอย่างที่ไม่สามารถนำงบมาใช้ได้ เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ทาง รพ.นำมาใช้ไม่ได้ จากปัญหาดังกล่าว ท่านรัฐมนตรีบอกว่าให้ดำเนินการไปก่อน และท่านไปหารือกับท่านนายกฯ จนออกมาตรา 44 คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมา เพื่อปลดล็อกให้ทำงานได้ไปก่อน

“ปัญหาไม่มีแค่นี้ ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ อย่างพยาบาลประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ส่งคนไข้จนทุกวันนี้ยังนั่งรถเข็นตลอดชีวิต อีกคนก็เป็นทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ตัว มีหลายเคส พยาบาลโคม่า ค่าทำขวัญไม่มี ค่าเยียวยา เกิดเหตุเมื่อ 2  สัปดาห์ ก็ยังอยู่ไอซียู ผมเป็นหัวหน้า ผมเห็นแล้วน้ำตาตกใน ผมจะทำช่วยยังไงได้ เพราะกฎหมายไม่เปิดให้ช่วยพวกเขาได้” ปลัด สธ.กล่าว

Advertisement

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า อย่างที่ผ่านมา สปสช.ไปลงนามกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดูแลสุขภาพให้ข้าราชการท้องถิ่น  แต่รู้หรือไม่ว่าเงินหมดแล้ว  ถามว่า คนไข้ที่มารักษา รพ.จะไม่รักษาได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ แต่เงินเราไม่มี เราก็ต้องหาวิธี บริหารจัดการกันไป เราต้องรักษาเหมือนเดิม ตนอยากพูดถึงนิทานที่นายกฯ พูดเมื่อวานว่า มีสิงโตเป็นหัวหน้ามดงาน เห็นว่ามดงานทำงานดี และอยากให้งานดียิ่งขึ้น ก็ไปจ้างแมลงสาบมาเป็นเจ้านาย สิงโตก็พอใจ และเอาควายมาเป็นผู้ติดตามงาน และไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มอีก กลายเป็นว่ามดงานต้องทั้งตอกบัตร เขียนรายงาน และเมื่องานเดิมที่ผ่านมาด้อยลง สุดท้ายสิงโตก็ไล่ออก ซึ่งเรื่องนี้คนสาธารณสุขก็เหมือนมดงาน สิงโตเปรียบเหมือนประชาชน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าต้องมาแก้ระบบบริหารจัดการ ถามว่าท่านจะปล่อยให้มดงาน กระทรวงสาธารณสุขทำงานโดยพูดอะไรไม่ได้หรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วเราทำงานอย่างที่เคย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงก็ทำงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด นี่คือเหตุผลที่ต้องแก้กฎหมาย ดังนั้น ยาเอดส์ น้ำยาล้างไต ยังเหมือนเดิม หากเราไม่แก้ไขกฎหมาย ก็จะไม่มีคนทำงาน ไม่มีน้ำไม่มีไฟ ที่บอกไม่มีคนทำงาน

“เราต้องให้ทุกอย่างล้อไปด้วยกัน ทำงานก็ต้องทำร่วมกัน โดยตัวเชื่อมล้อผู้ให้บริการ ล้อทางด้านการเงินต้องไปด้วยกัน ตัวเชื่อมคือ กฎหมาย  แต่ไม่ใช่ว่ากระทรวง ไม่ทำอะไรเลย ในส่วนกระทรวงก็มีนโยบายในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  อย่าง รพ.ประชารัฐ ซึ่ง นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผอ.รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เสนอทำโครงการดังกล่าว  ซึ่งเป็นรพ.ที่ดึงประชาชนมีส่วนร่วม อย่างทำห้องพิเศษปรับปรุงให้ดี และดูในพื้นที่มาเป็นสมาชิก อย่าง 10,000 คน จ่ายเงินวันละ 3 บาท คล้ายๆประกันสุขภาพที่เพิ่มออปชั่น อย่างเวลาเป็นผู้ป่วยในจะได้นอนห้องพิเศษ ซึ่งทำเป็น รพ.ที่เป็นของพี่น้องประชาชน ขณะนี้มีแล้ว 20 รพ. แล้ว หรือแม้แต่ รพ.อุ้มผาง มี นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์  เป็น ผอ.รพ.อุ้มผาง  ก็ทำงานเพื่อประชาชน ผมถามว่า คนเหล่านี้มาเป็นกรรมการในบอร์ดฯได้หรือไม่   อย่างกฎหมาย สปสช. ไปปิดช่องเรื่องเลขาธิการ สปสช. ไม่เปิดกว้างคนอื่นๆ เพราะตั้งกฎปิดล็อกมากมาย อย่างคนในกระทรวง ทำงานร่วมกับ สปสช. แต่พอจะมาลงสมัครรับเลือกเลขาธิการ สปสช. ทำไม่ได้เลย แบบนี้ปิดกั้นหรือไม่ ” นพ.โสภณกล่าว

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นายกฯออกมาตรา 44 คำสั่ง คสช. เพื่อให้การทำงานชัดเจน และให้เดินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ฯ ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะจะทำให้การทำงานเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ส่วนเรื่องการจัดซื้อยา ใครจะดำเนินการไม่ขัดข้อง ขอแค่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราใช้คำสั่งจาก ม.44 ดำเนินการอยู่ เช่น กิจกรรม รพ. ได้รับเงินไปแล้วให้สามารถซื้อยาได้ เป็นต้น  ส่วนข้อเห็นต่างต่างๆ เห็นต่างได้ แต่อย่าขัดแย้งกันดีกว่า และการแก้กฎหมายบัตรทองไม่ได้ล้มบัตรทอง เพียงแต่ยังมีหลายประเด็นที่เห็นต่างอยู่ เพียงแต่ภาพของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องรีบหาข้อยุติให้ได้

นพ.พลเดชกล่าวว่า  หากพิจารณาจากเนื้อหาสาระร่าง พ.ร.บ.ฯ ความเป็นจริงไม่มีสัญญาณอะไรที่กลุ่มไม่เห็นด้วยคิดเลย แต่ก็เข้าใจว่า อาจต้องมีการสร้างวาทกรรม คำพูดต่างๆ ออกมา แต่ก็ยังมั่นใจว่าประชาชนกว่า 60 ล้านคน จะพิจารณาและใช้วิจารณญาณได้ ส่วนการแก้กฎหมายก็ยังเดินตามกระบวนการ ทั้งออนไลน์มีความเห็น 833 ความเห็น และเวที 4 ภาคมีคนเข้าร่วมทั้งลงทะเบียน และไม่ได้ลงทะเบียนแต่มาแสดงความคิดเห็นในเวทีประชาพิจารณ์ รวมจำนวน   2,098   คน ซึ่งในความเห็นทั้งหมดรวมแล้ว 1,622 ความเห็น โดยแบ่งออกเป็นความเห็นจากออนไลน์ประมาณ 833  ความเห็นและที่เหลือ 789 ความเห็น โดยจะไม่แยกความคิดเห็นว่าใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่เราจะรวมเป็นหมวดๆ ว่าเห็นด้วยอะไร ไม่เห็นด้วยอะไร

น.ส.สุนทรี เซ่งกิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการถ่ายทอดสดงานเสวนาดังกล่าว น.ส.สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน  ได้เดินไปหยิบไมโครโฟน และกล่าวขอแสดงความคิดเห็น โดยจะขอสอบถาม รศ.วรากรณ์  แต่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา ระบุว่าต้องขออนุญาต เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างถ่ายทอดสด หากต้องการแสดงความคิดเห็นสามารถดำเนินการได้ผ่านช่องทางที่เตรียมไว้ แต่ระหว่างนี้ขออนุญาตดำเนินรายการก่อน ซึ่ง น.ส.สุนทรี กล่าวด้วยท่าทีไม่พอใจและระบุให้สื่อมวลชนบันทึกภาพไว้ว่า เวทีนี้ไม่ยอมรับความคิดเห็นของประชาชน

ด้าน รศ.วรากรณ์  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเสวนาว่า   กรณีตัวแทนภาคประชาชนมองว่าร่าง พ.รบ.นี้มีแต่หน่วยบริการได้ประโยชน์ แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์นั้น ขอชี้แจงว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำงานโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ดังนั้น ทุกประเด็นที่มีการแก้ไขก็มุ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น การระบุว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการร่าง พ.ร.บ.นี้นั้น ไม่จริง เพราะตอนที่คณะกรรมการทำงานในการร่างพ.ร.บ. ได้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักไม่ได้เอาประโยชน์ของหน่วยบริการเป็นหลักเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่าเวทีปรึกษาสาธารณะเกิดความวุ่นวายขึ้นจะทำอย่างไรต่อ รศ.วรากรณ์กล่าวว่า เวทีประชาพิจารณ์จบแล้ว 4 ภาค แล้วที่ผ่านมาช่องทางการประชาพิจารณ์ก็มีหลายรูปแบบทั้งการพูด เขียน ทั้งยังมีออนไลน์ด้วย ทั้งทุกช่องทางได้ทำทุกจังหวัดมีเพียงที่ขอนแก่นที่ไม่ได้พูด ถือว่าครบถ้วนแล้ว ได้รับความเห็นเป็นพันแล้ว เวทีสาธารณะวันนี้ถือเป็นสิ่งเพิ่มเติมเป็นวิธีการใหม่ คือการให้คนมาพูดกันโดยไม่มีข้อสรุป ถือว่าเป็นของแถม กรณีที่ภาคประชาชนกังวลว่าความเห็นต่างจะถูกหยิบยกไปไว้ที่ใด จะถูกนำมาพิจารณาหรือไม่นั้น  เราจะประมวลความเห็นทั้งหมดสรุปเป็นข้อแล้วนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้เห็นด้วย จากนั้นจะนำความเห็นเหล่านี้เข้าคณะกรรมการเพื่อประมวลว่าจะแก้ไขอย่างไรต่อไป กรรมการก็จะดูว่าประเด็นไหนที่ประชาชนกังวลสุด ดูเหตุผล  ส่วนผลการศึกษาประเมินผลกระทบจากการแก้ พ.ร.บ.ฯ ที่เชิญสถาบันพระปกเกล้ามาทำการศึกษา จะเสนอพร้อมกันแก่รัฐมนตรีว่าการ สธ.ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีความเห็นต่างที่ภาคประชาชนต้องการให้จัดเวทีสมัชชาสุขภาพ ทางคณะกรรมการจะทำอย่างไร จะสามารถเสนอต่อรัฐมนตรีได้ด้วยหรือไม่ รศ.วรากรณ์กล่าวว่า เวทีสมัชชาสุขภาพก็สามารถทำได้ แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นขั้นต้นเท่านั้นเอง ซึ่งจะส่งให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.พิจารณา และส่งต่อ ครม.  อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความเห็นต่าง ก็จะแนบไปกับรายงานการประชุมร่างกฎหมายฉบับนี้  ซึ่งไม่ได้จบที่นี่ เพราะรัฐมนตรีว่าการ สธ.อาจนำความเห็นต่างๆ มาพิจารณาร่วมด้วย อาจมีคณะกรรมการอีกชุดมาพิจารณาอีกครั้งก็ได้ ซึ่งตนก็ไม่ทราบ หรืออาจเอาความเห็นต่างนี้ไปพิจารณาในขั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เป็นได้ ซึ่งจะประมวลความเห็นต่าง ความเห็นส่วนน้อยไปในรายงานการประชุม

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image