“สภาวิศวะ-สภาสถาปนิก”เล็งถกร่างสัญญากับเจ้าหน้าที่เทคนิคจีน-ระบุอยากเห็นวิศวกรไทยมีส่วนร่วม 50%

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกร่วมกันแถลงข่าวกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยมีนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร นายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร นายประภากร วทานยกุล กรรมการสภาสถาปนิก และพล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการสภาสถาปนิก ร่วมแถลงข่าว

นายกมลเปิดเผยว่า จากในคำสั่งคสช.ที่ 30/2560 เรื่องการออกมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกขอชี้แจงว่า ได้มีความพยายามอย่างที่สุดในการแสดงหลักการและจุดยืน เพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกรพ.ศ. 2542 และพ.ร.บ.สถาปนิกพ.ศ.2543 โดยไม่ย่อหย่อนต่อมาตรฐานการทดสอบความรู้ความชำนาญ โดยทั้ง 2 สภาฯ จะร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อให้วิศวกรและสถาปนิกไทยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนอย่างเป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาชีพภายในประเทศ โดยจะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชมีสา ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าว โดยทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อติดตามดูแลโครงการ

“เงื่อนไขต่างๆ ที่ได้หารือกับทางรัฐบาล 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การที่จะให้วิศวกรและสถาปนิกไทยเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการและการถ่ายโอนเทคโนโลยี (เทคโนโลยีทรานเฟอร์) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์และทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต โดยทั้ง 2 สภาฯได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อรัฐบาลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามมองว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เป็นลักษณะโครงการรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการยกเว้นเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นและมีประสิทธิภาพ” นายกมลกล่าว

นายเจตกำจรกล่าวว่า ทั้ง 2 สภาก็อยากให้ทางวิศวกรและสถาปนิกจีนที่เข้ามาจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่เมื่อมีข้อขัดข้องบางประการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทางสภาวิชาชีพก็คงจะต้องดำเนินการให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

Advertisement

นายอมรกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนที่ทางสภาวิชาชีพจะต้องดำเนินการหลังจากนี้คือ การจัดอบรม การทดสอบและการออกใบรับรองแทนการออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ ก่อนที่วิศวกรและสถาปนิกจีนจะเริ่มเข้ามาทำงานในโครงการ โดยในรายละเอียดของการออกใบรับรอง หลักๆ จะมี 2 เรื่องสำคัญคือ 1.ทางเทคนิคที่จะต้องทราบ เช่น สภาพชั้นดิน สภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นพื้นฐานการออกแบบให้รองรับกับสภาพเหล่านี้ได้ และ 2.ด้านกฎหมาย จรรยาบรรณและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในส่วนการเจรจาเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกมีความเห็นว่าจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1.จัดตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยี 2.จัดทำรายงานขั้นตอนการถ่ายโอนเทคโนโลยี 3.กำหนดสัดส่วนวิศวกรไทยที่จะเข้าไปร่วมทำงานในโครงการ 4. กำหนดให้มี counterpart ในส่วนงานที่สำคัย และ 5.กำหนดองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี โดยจะต้องประกอบด้วย 3 หน่วยงานคือ วิศวกรและสถาปนิกไทย สมาคมวิชาชีพและสถาบันการศึกษา

“มั่นใจว่าจะต้องมีเทคโนโลยีทรานเฟอร์อย่างแน่นอน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมก็ได้สนับสนุนสภาวิชาชีพมาโดยตลอด ในเรื่องสัดส่วนของวิศวกรไทย-จีนที่จะมาทำงานร่วมกันและเงื่อนไขอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าเราจะมีการเจรจากันอย่างไรบ้าง ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสภาวิชาชีพ รัฐบาลไทย ตัวแทนรัฐบาลจีน ทั้งสภาพัฒน์ฯ จีนและสภาวิศวกรจีน โดยในขณะนี้ทางสภาวิศวกรจะต้องเร่งส่งแผนอบรมให้กับทางกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยคาดว่ารายละเอียดทั้งหมดเกือบ 80% จะแล้วเสร็จ เช่น เรื่องที่จะมีการจัดอบรม สถานที่การอบรม เรื่องที่อบรม โดยภายในวันนี้ (21 มิถุนายน) ทางเจ้าหน้าที่เทคนิคของจีนจะมาคุยกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหน่วยงานกลางที่จะร่วมคุยด้วย ในเรื่องร่างสัญญาแรกและข้อมูลในเชิงเทคนิคตามเงื่อนไขมาตรฐาน” นายอมรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image