สุจิตต์ วงษ์เทศ : สุนทรภู่รับราชการ ไม่มีอาชีพกวี

สุนทรภู่ ไม่ทำอาชีพกวี และไม่เคยมีอาชีพกวีในสังคมไทยสมัยรัฐจารีต เพราะคนส่วนมากอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่มีการพิมพ์เหมือนปัจจุบัน

แม้เจ้านายขุนนางข้าราชการจำนวนมากในราชสำนักสมัยโบราณ ก็อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

[ศิลาจารึกไม่ได้ทำให้คนทั่วไปอ่าน แต่ทำเป็นพิธีกรรมให้ผีกับเทวดาอ่าน]

ในความเป็นจริงอย่างมีหลักฐานมั่นคง สุนทรภู่มีอาชีพรับราชการในราชสำนัก ร.2 เกี่ยวข้องกับงานร่างพระบรมราชโองการ ตลอดจนร่างพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นต้น เหล่านี้มีบอกในนิราศภูเขาทอง เมื่อนั่งเรือผ่านท่าช้างวังหลัง ว่า

Advertisement

“เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ เคยรับราชโองการอ่านฉลอง”

ความรู้พื้นฐานที่ต้องมีเพื่อรับราชการ สุนทรภู่ไม่ได้บอกตรงๆ แต่มีเป็นเบาะแสไว้ที่ต่างๆ เช่น เพลงยาวถวายโอวาท (เป็นบทสอนเจ้านายน้อยๆ ที่เป็นศิษย์เรียนหนังสือ) ว่าต้องศึกษาวิชากฎหมาย (นิติศาสตร์) และการปกครอง (รัฐศาสตร์) รวมทั้งภาษาหนังสือ (อักษรศาสตร์) ฯลฯ ดังนี้

อุตส่าห์เรียนเขียนอ่านบุราณราช         ไสยศาสตร์สงครามตามประสงค์

Advertisement

ลำดับศักดิ์จักรพรรดิขัตติย์วงศ์                      อุตส่าห์ทรงจดจำให้ชำนาญ

ด้วยพระองค์ทรงสยมบรมนาถ                      บังคับราชการสิ้นทุกถิ่นฐาน

กรมศักดิ์หลักชัยพระอัยการ               มณเฑียรบาลพระบัญญัติตัดสำนวน

อนึ่งให้รู้สุภาษิตบัณฑิตพระร่วง                     โคลงเพชรพวงผิดชอบทรงสอบสวน

ราชาศัพท์รับสั่งให้บังควร                              ทราบให้ถ้วนถี่ไว้จะได้ทูล

เพลงยาวฯ ตอนที่ยกมานี้มีชื่อเอกสารสำคัญๆ เช่น

เอกสารกฎหมาย และการปกครอง ได้แก่ กรมศักดิ์, หลักไชย, พระอัยการ, กฎมณเฑียรบาล, พระราชบัญญัติ ฯลฯ

เอกสารอักษรศาสตร์ ได้แก่ สุภาษิตพระร่วง, โคลงเพชรพวง, ราชาศัพท์ ฯลฯ

ความรู้เหล่านั้น สุนทรภู่ยังยืนยันบอกไว้อีกเมื่อแต่งบทเสภา ตอนกำเนิดพลายงาม ขุนแผนบอกพลายงามให้อ่านตำราเก็บไว้ในตู้ ล้วนมีรายการตรงกับเพลงยาวถวายโอวาท (ที่ยกมา)

สะท้อนให้เห็นตัวตนสุนทรภู่ ว่าฝักใฝ่ในวิชาความรู้ตามจารีตดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็แสวงหาวิชาความรู้เท่าทันโลกก้าวหน้ายุคนั้นซึ่งมาจากยุโรป ดังเห็นจากสิ่งที่สอดแทรกไว้ในหนังสือพระอภัยมณี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image