“สมาพันธ์ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง”บุกคมนาคมขอเลื่อนใช้กฎหมายเดินเรือฉบับใหม่-พิชิตยอมเลื่อน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังสมาพันธ์กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 5 ภาคเข้าพบ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ 23 มิถุนายนนี้ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังต้องการให้กระทรวงคมนาคม และ รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขใน3 ประเด็นคือ 1.ขอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ออกไปก่อน 2. ให้พิจารณายกเว้นค่าปรับและโทษผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชัง เนื่องจากในกฎหมายหากตรวจพบเกษตรกร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในตารางเมตรละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท 3.การยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมรายปี หรือให้ลดราคา เนื่องจากเกษตรกรมองว่าราคาที่จะจัดเก็บที่ 50 บาท/ตารางเมตร/ปีนั้นสูงเกินไป ดังนั้น กระทรวงฯจึงเห็นควรผ่อนผันให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลากระชังสามารถเลี้ยงปลาได้ในระหว่างรอการปรับแก้ไขกฏหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร รวมถึงการยกเว้นค่าปรับกรณีปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตตารางเมตร (ตร.ม.) ละ 500 บาท แต่ไม่เกินตร.ม.ละ 10,000 บาท และค่าตอบแทนรายปีที่จะต้องจ่ายให้กับภาครัฐตรม.ละ 50 บาท

“การแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลาสักระยะ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ คาดว่าจะเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนดให้ทำการรื้อถอนภายใน 60 วันนับจากที่เกษตรกรรับแจ้ง ทั้งนี้รายละเอียดการแก้ไขกฎหมายจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบความเดือดร้อนของเกษตรกรที่กระทบความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ ดังนั้นจะผ่อนผันบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด”นายพิชิต กล่าว

นายเมธี อำไพพิศ ผู้ประสานงาน สมาพันธ์กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 5 ภาค กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 5 ภาค ทั่วประเทศกว่า 100,000 ราย และเป็นผู้ที่เลี้ยงปลาวิถีชีวิตตามลำน้ำ ลำคลอง แม่น้ำ แต่เมื่อกรมเจ้าท่าออก พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่17)เพื่อป้องกันปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ การขวางระบายน้ำ ของอาคารต่างๆที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำและการเดินเรือออกมาได้ส่งผลกระทบอย่างมากกับเกษตรกร แต่ยืนยันว่ากระชังเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ถาวร และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำและการเดินเรือแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลผ่อนผันกฎหมายระเบียบข้อบังคับออกไปก่อน อย่างไรก็ตามภายใน 1-2 สัปดาห์ ทางสมาพันธ์จะเข้ามาสอบถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่างๆจากกระทรวงอีกครั้ง ขณะเดียวกันอาจจะต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาดูแลเรื่องนี้

“ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาในกระชังเฉลี่ยรายละ 5ตารางเมตร-500 ตารางเมตร และปลาส่วนใหญ่ที่เลี้ยงจะเป็นปลาน้ำจืด ปลานิล ปลาทับทิมเป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้ที่อาศัยตามถิ่นนั้นเพื่อเลี้ยงชีพ และกฑหมายมีผลบังคับใช้ต้องจ่ายค่าปรับที่ 50บาท/ตรม. เกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังจะเสียค่าปรับเฉลี่ยที่ 250บาท/ตารางเมตร-25,000 บาท/ตารางเมตร แล้วแต่ว่าใครมีพื้นที่เลี้ยงมากน้อยเท่าไหร่ จากก่อนหน้าไม่เคยเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้”นายเมธี กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า สำหรับพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ลงประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา และมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 ก.พ. โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ชายหาดสาธารณประโยชน์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาลำน้ำสำหรับการพาณิชย์นาวี การเกษตรกรรม และการป้องกันอุทกภัย ซึ่งในเนื้อหาระบุว่าหากฝ่าฝืนการปลูกสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และไม่แจ้งภายในกำหนด 22 มิถุนายน 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในตารางเมตรละ 1,000 บาท แต่ไมเกิน 20,000 บาท นอกจากนี้ผู้ครอบครองวิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำต้องแจ้งต่อกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่สิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ตามช่องทางหรือวิธีการที่กำหนดภายในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ หลังจากนั้น กรมเจ้าท่าจะแจ้งให้ทราบว่าการออกใบอนุญาตให้ได้หรือให้ทำการรื้อถอนภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image