อ.วิศวะ จุฬาฯโพสต์ฝาก10 ข้อคิด ไทยสร้างรถไฟความเร็วสูง

วันนี้ (21 มิ.ย.) ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอดีตรองผู้อำนวยการ สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ก Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D.เสนอแนะข้อควรคำนึง 10 ข้อ กรณีการรัฐบาลเดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยระบุว่า

มิตรสหายท่านหนึ่ง ส่งข้อความมาถามว่า ในระหว่างที่อาจารย์ประมวลเดินทอดหุ่ย หมดอาลัยตายอยากอยู่ที่ประเทศจีน มีอะไรอยากฝากไปพูดคุยให้ใครๆ ในประเทศไทยฟังบ้าง
อาจารย์ประมวลจึงพิมพ์ตอบไปแบบไวๆ ตามนี้

1. ไม่ได้ขัดขวางการทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (แม้อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ไม่เคยขัดขวางนะครับ)

2. การทำโครงการ ต้องพิจารณาผลประโยชน์ต่อประเทศชาติในหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะเพียงรายได้จากค่าโดยสาร การพัฒนาพื้นที่ หรือแม้แต่ความสะดวกสบายในการเดินทาง หรือใครบางท่านจะเรียกว่า Social Impact อะไรก็แล้วแต่ …. สาระสำคัญอยู่ที่ “คนส่วนใหญ่” ต้องได้ประโยชน์จากโครงการ

Advertisement

3. คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ทำอย่างไร “คนส่วนใหญ่” จึงจะได้ประโยชน์จากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง?

4. เมื่อพิจารณาถึงคนส่วนใหญ่ จึงต้องพิจารณา ทั้งประโยชน์ทางตรง และประโยชน์ทางอ้อม ต่อคนส่วนใหญ่

5. การพัฒนาโครงการ โดยโฟกัสเพียงรายได้จากค่าโดยสาร ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง หรือการทำ TOD (Transit Oriented Deveopment) จะไม่สร้างประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ เพราะจะตกอยู่กับเพียงคนที่มีรายได้พอต่อการเดินทาง และนายทุนที่ลงทุนในพื้นที่ และกิจกรรมที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้่ ไม่ได้เพิ่มความสามารถใดๆ ให้กับประเทศ ตรงกันข้าม หากเรามองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน โครงการนี้จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะประสบภาวะขาดทุน จนรัฐต้องใช้เงินภาษีของทุกคนเข้าไปอุ้มชูอันเนื่องจากการประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ผิดพลาด การพัฒนา business model ที่ไม่สมเหตุผล (แบบเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสีๆ ที่เราเห็นๆ กันอยู่ มีโครงการไหนที่ demand forecast ตรงหรือใกล้เคียงบ้าง?) เงินของคนส่วนใหญ่ จะกลายเป็นถูกใช้ไปเพื่อการอุ้มชูโครงการเหล่านี้ โครงการละหลายๆ ล้าน รวมกันหลายๆ โครงการ จะเป็นเงินเท่าไรหนอ

6. การสร้างประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ จึงต้องพิจารณาไปที่ จะสร้างผลกระทบในระยะยาว + เสริมสร้างความสามารถให้กับประเทศได้อย่างไร นานาชาติใช้เครื่องมืออะไรในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ? ถ้าท่านอื่นๆ คิดถึงเครื่องมืออื่นๆ ได้ ก็โปรดนำเสนอออกมา แต่อาจารย์ประมวลในฐานะที่สอนหนังสืออยู่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คิดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม

7. นั่นคือการผูกโยงไปหาการพัฒนาอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในทางเทคโนโลยีของประเทศ ของบุคคลากร เนื่องจากจะผูกโยงกับการศึกษา การวิจัยและพัฒนา

8. เน้นย้ำว่า อุตสาหกรรมที่พูดถึง ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แต่ต้องหมายรวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบ การผลิตชิ้นส่วน วัสดุศาสตร์ โลหวิทยา อิเลกทรอนิกส์ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ฯลฯ ซึ่งหลายอย่างอาจเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย การฝากเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟ้าไว้กับกลุ่มวิศวกรที่ไม่เข้าใจเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่อาจมีความชำนาญในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง หรือวิศวกรรมโยธา จึงอาจกลายเป็นเครื่องหมายคำถาม มากกว่าจะเป็นคำตอบ อุตสาหกรรมระบบราง ต้องการความร่วมมือจากวิศวกรหลากหลายสาขา ไม่จำเพาะเพียงวิศวกรรมโยธาครับ

9. การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะต้องไม่จบแค่เพียงเทคนิคการก่อสร้าง การฝึกอบรม การส่งคนไปเรียนหนังสือ แต่จะต้องพัฒนาความสามารถในการผลิตให้กับประเทศด้วย

10. นี่คือโอกาสที่ประเทศไทย จะผูกรวมความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เข้ากับอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้า (ทั้งรถไฟดีเซล รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และรถไฟฟ้าความเร็วสูง) เข้ากับนโยบาย Thailand 4.0

หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image