แพทย์เตือนระวัง ‘เซลฟี่’ อันตราย

(ภาพ-Pixabay)

ทีมแพทย์แคนาดาซึ่งอยู่ระหว่างการบำบัดอาการโรคชักให้กับผู้ป่วยวัยรุ่นสตรีรายหนึ่ง ตรวจสอบพบว่า การถ่ายภาพเซลฟี่ตัวเองของผู้ป่วยรายนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคลื่นสมองเฉียบพลัน คล้ายกับคลื่นสมองเมื่อเกิดอาการชัก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการถ่ายเซลฟี่อาจก่อให้เกิดอาการชักได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้แฟลชและฟังก์ชั่นลบจุดแดงในดวงตาร่วมด้วย

ผู้ป่วยวัยรุ่นหญิงรายนี้ เกิดอาการชักระหว่างร่วมงานเลี้ยงเต้นรำของโรงเรียน ทางทีมแพทย์นำผู้ป่วยมาตรวจคลื่นสมองด้วยเครื่องอีเลคโตรเอนเซฟาโลแกรม (อีอีจี) และบันทึกภาพวิดีโอระหว่างการตรวจไว้ด้วย ระหว่างนั้นผู้ป่วยใช้ไอโฟนถ่ายเซลฟี่ตัวเองโดยเปิดแฟลชและฟังก์ชั่นลบจุดแดงในดวงตา แพทย์พบในภายหลังว่า ไม่นานหลังการถ่ายเซลฟี่ดังกล่าว คลื่นสมองของผู้ป่วยเปลี่ยนไปผิดปกติ คล้ายกับเมื่อเกิดอาการชัก

ข้อสรุปของทีมแพทย์ที่รายงานไว้ในวารสารการแพทย์ซีซเซอร์ ก็คือ เซลฟี่อาจนำไปสู่ภาวะการเป็นลมชักได้ โดยเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “เซลฟี่-เอปิเลปซี” หรือ “โรคลมชักที่เกิดจากการเซลฟี่”

ทั้งนี้ ทีมแพทย์แคนาดาเชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้เกิดอาการชักเกร็ง แขนและร่างกายท่อนบนกระตุก หรือหมดสติได้เพราะการตอบสนองที่อ่อนไหวต่อแสง ซึ่งเป็นโรคลมชักอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “โฟโตเซนซิทีฟ เอปิเลปซี” หนึ่งในอาการโรคลมชักที่รู้จักกันดี ผู้ป่วยมักเกิดอาการเมื่อเจอกับแสงจ้ามากๆ หรือแสงวูบวาบ (แบบในงานเต้นรำ) หรือลำแสงแดดที่ลอดลงมาจากต้นไม้ เป็นโรคเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เล่นวิดีโอเกม “โปเกมอน” หรือดูแอนิเมชั่นดังกล่าว ซึ่งมีรายงานการพบเห็นหลายรายในญี่ปุ่นเมื่อปี 1997

Advertisement

ผู้ที่มีอาการชักหรือเป็นโรคลมชักประจำตัว หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปจึงควรระมัดระวังการถ่ายภาพเซลฟี่ให้มากไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image