รวมพลังแตกตัว เอามื้อสามัคคี จัดการน้ำท่วม-แล้ง อย่างยั่งยืน

เอามื้อสามัคคี

นับตั้งแต่ปี 2556 ที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ได้นำเอาศาสตร์พระราชาในการจัดการน้ำและดินก่อร่างเป็นโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ด้วยแรงบันดาลใจที่สืบสานพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่จะหยุดน้ำท่วม-แล้ง และเมื่อก้าวสู่ปีที่ 5 ของโครงการ จึงได้ผุดแนวคิด “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ดึงภาคประชาสังคมมาร่วมแรงร่วมใจเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้เขียวขจี โดยจัดงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประสม รังสิโรจน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ

สำหรับความสำเร็จ 4 ปีที่ผ่านมา อ.ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลย์กำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เผยว่า เมื่อเราเริ่มทำโครงการได้วางแผนระยะยาวไว้ 9 ปี โดยตั้งใจว่าช่วง 3 ปีแรก จะสร้างการรับรู้ให้กับชุมชนเรื่องศาสตร์การจัดการน้ำต่างๆ โดยเริ่มต้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้ว ชาวบ้านต่างสนใจที่จะทำงานร่วมกับเรา ทำให้นำไปสู่การปฏิบัติถึง 24 ลุ่มน้ำจากทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ขาดเพียงลุ่มน้ำตาปี ซึ่งหลายพื้นที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้เขียวขจี เป็นการแตกตัวที่ค่อนข้างเร็ว

“ถือเป็นความสำเร็จที่แท้จริง ซึ่งหาก 8 ลุ่มน้ำเหนือกรุงเทพฯ ทำได้เช่นนี้เหมือนกันหมดก็จะทำให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ”

ดร.วิวัฒน์เล่าว่า สำหรับระยะที่ 2 ของแผนการทำงาน จะเน้นการสร้างคนต้นแบบถ่ายทอดเรื่องราวสู่ชุมชน โดยเน้น 4 พื้นที่คือ 1.พื้นที่กสิกรรม แปลงเกษตรสาธิต สจล. 2.ไร่สุขกลางใจ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 3.นาข้าวกลางทุ่งหิน อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี และ 4.ศูนย์การเรียนรู้ ป่าสักโมเดล ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี โดยยกตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตงว่า

Advertisement

“การเอามื้อสามัคคีครั้งแรก หรือการลงแขกในภาษากลาง เกิดขึ้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง อดีตเคยอุดมสมบูรณ์แต่เสื่อมโทรมไปมาก กลายเป็นที่แห้งแล้ง ทางโครงการจึงเน้นปลูกป่า ปั้นคันนา จนสำเร็จ ซึ่งการลงแขกหรือเอามื้อสามัคคีนี้เป็นอารยธรรมที่สำคัญ ในหลวง ร.9 รับสั่งว่าการจะทำให้สำเร็จต้องทำแบบคนจน คือการที่ชาวบ้านมาร่วมมือกันทำ ไม่ต้องซื้อเครื่องจักร น้ำมัน จะช่วยให้รู้จักพึ่งพาตนเอง ทรงสอนให้รู้จักระเบิดจากข้างใน ไม่ต้องรอให้ภาครัฐเข้าไปช่วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องดีที่จะค้ำจุนแผ่นดินไทย” ดร.วิวัฒน์เผย

 

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
แปลงเกษตรสาธิตคณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล.

Advertisement

 

ด้าน ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เผยว่า สิ่งที่บอกว่าโครงการประสบความสำเร็จคือ ชาวบ้านรอด เราได้สร้างอาหารลดรายจ่ายที่เคยมีในอดีตได้ พื้นที่ที่เคยท่วม เมื่อนำศาสตร์พระราชาไปใช้ก็ไม่ท่วม ไม่แล้ง สุดท้ายคือชุมชนที่เคยมีหนี้ปลอดหนี้ ซึ่งทาง สจล.ได้ต่อยอดทำโครงการวิจัย “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ขึ้น เพื่อติดตามข้อมูลมาถอดบทเรียนเป็นชุดความรู้และคู่มือในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป

ร่วมแรงสามัคคี

 

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล
ภาคีเครือข่ายร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการตามรอยพ่อ ปี 5

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image