สมคิด ปาฐกถาพิเศษ ‘8จุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศครั้งใหญ่’

เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมในพิธีเปิดงานสัมมนาผู้ลงทุนสถาบันในตลาดทุนระดับนานาชาติ “Thailand’s Big Strategic Move” โดยนายสมคิดกล่าวปาฐกถาช่วงหนึ่งระบุว่า

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีโอกาสไปร่วมในงาน Nikkei forum ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว โดยหัวข้อหลักของงานในปีนี้ คือ การมองบทบาทของเอเชียในอนาคต ตลอดช่วงเวลา 2 วันของการพูดคุย ณ เวทีแห่งนั้น ในด้านหนึ่งได้สะท้อนถึงความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัดในสภาวะความไม่แน่นอนของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของผู้นำสหรัฐที่สลัดทิ้งซึ่งสิ่งที่ตนเอง คือ ผู้สร้างและเชิดชูตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การสลัดทิ้งอย่างไร้เยื่อใยต่อเขตการค้าเสรี NAFTA และ TPP ที่สหรัฐ คือ ผู้สร้างและผลักดัน การประกาศหลักการที่ยึดผลประโยชน์ของสหรัฐต้องมาก่อนประโยชน์ของชาติพันธมิตรทั้งหลายที่สหรัฐเคยให้ความเกื้อกูลอย่างตั้งใจ และล่าสุดที่ภาพแห่งการปริแยกระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตรตะวันตกจากเหตุการณ์ประชุมนาโตและการถอนตัวจากข้อตกลง paris Accord ล้วนสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระเบียบโลกที่ฝังรากมานานและเขย่าดุลยภาพการเมืองของโลกอย่างรุนแรง ไม่มีใครหรือสถาบันใดในขณะนี้จะสามารถชี้ชัดได้ว่า โลกในปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่ว่าเศรษฐกิจหรือการเมือง

นายสมคิดระบุว่า ในอีกด้านหนึ่ง เวที Nikkei forum ต่างก็เห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า เอเชียกำลังเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจในยามที่โลกชะลอตัว เอเชียกำลังเป็นพลังใหม่ที่จะร่วมประสานกับภูมิภาคอื่นของโลกในการต่อสู้กับแนวคิด protectionist และกระแส reverse globalization ที่กำลังก่อตัวในขณะนี้ ทางเลือกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างเขตการค้าเสรีใหม่ได้ถูกกล่าวถึงและนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น one belt one road ที่ผลักดันโดยจีน TPP ที่นายกฯอาเบะได้อาสาประกาศตนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแทนที่สหรัฐ หรือ เขตความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ RCEP ที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียนบวกหกที่ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก โดยไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดในทุกทางเลือกนั้น เอเชีย คือ หัวใจทั้งสิ้น

ในอันที่จริงแล้วศักยภาพของเอเชียไม่ใช่เพิ่งจะเกิด แต่ได้เกิดและสั่งสมกันมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว เพียงแต่เกิดขึ้นในระดับประเทศหรืออนุภูมิภาค มาช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ที่ศักยภาพของทั้งภูมิภาคได้เปล่งประกายอย่างเจิดจ้าไม่ว่า จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศ clmvt หรือ asean โดยส่วนรวม และไม่ใช่เพียงแค่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุดในโลก แต่รวมไปถึงการเป็นsupply chain ที่สำคัญ การเป็นตลาดขนาดยักษ์ด้วยขนาดของทรัพยากรมนุษย์และชนชั้นกลางอันมหาศาล อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดนวัตกรรมแห่งอนาคตอันหลากหลาย เพียงแต่ว่าศักยภาพอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ เลือกที่จะแฝงตัวอยู่ใต้ภาพการนำโดยโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐและ EU แต่เมื่อสหรัฐเลือกที่จะสละความเป็นผู้นำโลกในยามที่สหภาพยุโรปเริ่มอ่อนแรงและต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการเพื่อการดำรงอยู่รอด ประกายแห่งเอเชียจึงเริ่มเจิดจ้า อย่างมิอาจหักห้ามและกลายเป็นความหวังใหม่ในยามที่โลกท้อแท้ คำว่า Asia Rise ที่กล่าวกันแต่ในนามมากว่าทศวรรษ ยามนี้ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ โอกาสที่แฝงมาในวิกฤตโลก จึงมาเยือนถึงหน้าประตูบ้านของประเทศทั้งหลายในเอเชีย และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

Advertisement

“ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ เป็นเพียงประเทศเล็กๆแต่ศักยภาพของไทยนั้น ไม่มีใครจะปฏิเสธได้ ด้วยการเป็นประเทศที่พร้อมมูลด้วยทรัพยากร และด้วยตำแหน่งที่อยู่ใจกลาง mainland ของอาเซียนและ clmvt ที่เป็นหัวใจของ supply chain และ logistic แห่งเอเชีย ยิ่งเมื่อจีนประกาศโครงการ one belt one road ที่นานาประเทศให้ความสนใจ ประเทศไทยยิ่งโดดเด่นเพราะอยู่บนเส้นทางเชื่อมระหว่าง one belt บนแผ่นดินใหญ่กับ maritime silk road ทางทะเล ในอดีตพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยเคยโดดเด่นถึงขนาดถูกจัดนับให้เป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชียก่อนที่จะต้องเผชิญวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ของเอเซียเมื่อปี 2540 และต้องเผชิญความพลิกผันทางการเมืองตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีผลฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและบดบังศักยภาพของประเทศอย่างไม่ควรจะเป็น ทศวรรษที่ผ่านมาถือเป็น lost decade หรือทศวรรษที่สูญเปล่าอย่างไร้ค่า แต่บัดนี้ เมฆหมอกแห่งความมืดมนเหล่านี้ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างน่ายินดี ตลอดสามปีที่ผ่านมา ” นายสมคิดระบุ

นายสมคิดกล่าวต่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสให้กับประเทศ ในด้านหนึ่งได้นำประเทศกลับคืนสู่ความสงบและความมีเสถียรภาพที่มีความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และก้าวตาม roadmap การเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า ทุกสิ่งจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผล นำความเชื่อมั่นกลับคืนมาด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากที่ตกต่ำลงมาถึงขีดสุดสุดที่ร้อยละ 0.8 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กลับฟื้นคืนมาที่ร้อยละ 2.9 และ 3.2 ในปีที่ผ่านมา และล่าสุดที่ร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 หรือสูงกว่า โดยที่หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศอยู่ในระดับที่ไม่เกินร้อยละ 45 ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และไม่เพียงเศรษฐกิจใน real sector เท่านั้นที่มีการขยายตัวอย่างน่าพอใจ ตลาดทุนของประเทศก็ฟื้นตัวโดยลำดับ ในช่วงปี 2011-2016 กำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของบริษัท listed companies อยู่ที่ร้อยละ 7 โดยเฉลี่ย ในไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมากำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้นสูงถึง 300,000 ล้านบาทโดยประมาณ หรือเติบโตร้อยละ 21 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ขนาดตลาดได้ขยายตัวโดยลำดับ และมีขนาดถึง 122 % ของขนาด จีดีพี ในขณะที่ตลาดทุนไทยได้ชื่อว่ามีการกำกับดูแลที่ดีโดยมี governance score สูงที่สุดในอาเซียน ในท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความตึงเครียดทางการเมืองและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในขณะนี้ ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ถือเป็น save heaven ที่นักลงทุนให้ความสนใจ

และว่า “ถึงแม้ประเทศไทยได้กลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติและมีผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจก็ตาม แต่โจทย์ใหญ่ของประเทศ คือ จะให้การเติบโตนั้นยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างไรในท่ามกลางความท้าทายของโลกที่เผชิญอยู่ ไทยจะสามารถก้าวให้พ้นจากกับดัก middle income trap ที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายล้วนเผชิญอยู่ได้ด้วยวิธีใด และที่สำคัญยิ่งก็คือ ในยามที่เอเซียกำลังทวีบทบาทที่สูงขึ้นในอนาคต ไทยจะสามารถสร้างโอกาสและเป็นส่วนหนึ่งของกระแสแห่งเอเชียนี้ได้อย่างไร เพื่อตอบโจทย์ที่กล่าวมาข้างต้น ในช่วง 3 ปีมานี้ รัฐบาลได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายหลายประการซึ่งถือเป็น strategic shift หรือจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาครั้งสำคัญของประเทศ จะขออนุญาตกล่าวถึงเพียงบางประเด็นดังต่อไปนี้”

Advertisement

ประการแรก : จาก Export led growth สู่ balanced growth economy ด้วยหลักการที่สำคัญคือมุ่งสู่การเติบโตที่สมดุล ระหว่างการเติบโตโดยอาศัยปัจจัยภายนอกอาทิการส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางหลักในอดีตกับการเติบโตที่ขับเคลื่อนจากภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการสร้าง local economy ทั้งการผลิต การตลาด การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในภูมิภาคและท้องถิ่นโดยยึดแนวพระราชดำริ การระเบิดจากภายในเป็นสำคัญ ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งในชนบท การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นทั้งในระดับกลุ่มจังหวัดและในระดับฐานราก ได้ถูกกำหนดขึ้นและขับเคลื่อนพร้อมงบประมาณที่กระจายสู่กลุ่มจังหวัดและสู่ท้องถิ่นโดยตรง การโน้มนำการท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและระหว่างนักท่องเที่ยวไทยกันเองในประเทศ ที่กระจายกว้างออกไปในแต่ละภูมิภาคและลึกลงไปในระดับชนบทและชุมชน ถูกใช้เป็นตัวนำเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าชุมชนและตลาดที่จะรองรับอย่างมีเป้าหมาย รัฐบาลได้รณรงค์ความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างรัฐ เอกชนและชุมชน หรือที่เรียกว่า ประชารัฐ ในการช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตและการสร้างตลาดของแต่ละจังหวัด จนกลายเป็นแนวทางการพัฒนาที่กระจายไปในทุกภาคส่วนของประเทศในขณะนี้ ความสมดุลนี้จะเป็นหลักประกันให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง สมดุลโดยไม่ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกจนเกินพอดี

ประการที่ 2 : จาก low cost สู่ value based economy ด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมด้วยวิทยาการ ด้วยการค้นคว้าวิจัย และด้วยความคิดสร้างสรรค์ การผลักดันให้เกิด cluster การผลิตที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการสถาบันศึกษา และสถาบันวิจัย เพื่อเป็นบ่อเกิดแห่งนวัตกรรม รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณและผลักดันมาตรการการจูงใจทางภาษีให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนใน R&D ในขณะนี้งบลงทุนใน R&D ของประเทศขยายตัวจากร้อยละ 0.47 ต่อจีดีพี เมื่อปี 2013 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.65 ของ GDP เมื่อปีที่แล้ว โดยที่สัดส่วนของภาคเอกชนอยู่ที่ร้อยละ 70 ตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งรัฐต้องการขับเคลื่อนให้งบลงทุน R&D รวมของประเทศอยู่ที่ 1% เป็นอย่างน้อยใน 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ นโยบายการจูงใจการลงทุนจากต่างประเทศในขณะนี้ ได้มุ่งให้ความสำคัญกับโครงการลงทุน ที่เน้นการค้นคว้าวิจัยเป็นตัวนำการผลิต ทั้งหมดนี้ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งสำคัญของ BOI และมาตรการทางภาษีของกระทรวงคลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ประการที่ 3 : jump start โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ หลังจากที่หยุดชะงักไปนานกว่า 2 ทศวรรษ จนระดับการลงทุนของภาครัฐแทบจะอยู่ในระดับท้ายสุดในเอเชีย ประเทศไทยได้กลับมาประกาศการลงทุนครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยวงเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งการสร้างถนน ทางด่วน motorway โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การสร้างและพัฒนาสนามบินท่าเรือและสถานีขนส่งสินค้า ครอบคลุมช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า โครงการลงทุนเหล่านี้จะได้รับการ finance จาก 4 แหล่ง คือ งบประมาณแผ่นดิน การกู้ยืม การร่วมลงทุนกับเอกชน ในโครงการ ppp fast track ซึ่งในขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าร่วมลงทุนได้เริ่มแล้วถึง 5 เส้นทาง คือ เส้นสีเขียว น้ำเงิน ส้ม เหลือง และชมพู และภายในปีนี้จะเริ่มให้มีการประมูลอีก 3 เส้นทาง คือ ม่วงใต้ ส้มตะวันตก และสีแดง ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า จะทราบผลการประมูลรถไฟรางคู่อีก 5 เส้นทาง ซึ่งจะเริ่มลงทุนในปีนี้

สำหรับเส้นทางรถไฟไทย-จีน คาดว่าจะเริ่มได้ก่อนกันยายน และก่อนสิ้นปีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง กรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางรถไฟฟ้าที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการ ppp fast track จะสามารถผ่านการพิจารณาจาก ครม. ทั้งนี้รัฐบาลต้องการให้ทุกโครงการเริ่มต้นก่อนปลายปีหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำลังเตรียมการจำหน่ายหน่วยลงทุน Thailand future Fund ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และจะให้มีการจำหน่ายแก่ประชาชนในประเทศและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยแหล่ง financing เหล่านี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณและรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ให้เกินระดับร้อยละ 50

ประการที่ 4 : Eastern economic corridor,corridor for the futur
e รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปโครงสร้างการผลิตของประเทศที่เน้นมูลค่าเหนือปริมาณ เน้นนวัตกรรมและวิทยาการเหนือปัจัยด้านต้นทุนและต้องการเปลี่ยนผ่านก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลจึงได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตที่เราคิดว่าเรามีจุดแข็งและสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งภูมิภาคได้ อาทิ อาหารแห่งอนาคต bioeconomy ที่อาศัยเกษตรเป็นพื้นฐาน ยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนตร์อุตสาหกรรมโดยอาศัยฐานการผลิตยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเป็นพื้นฐาน health and wellness Medical device petrochemical ขั้นสูง ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค เป็นต้น รัฐบาลได้จัดพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัด ในระยะเริ่มต้นพร้อมโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะใน EEC กว่า 4 แสนล้านบาท ในปัจจุบันได้มีโครงการร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากและโครงการร่วมพัฒนาระหว่างไทยกับมิตรประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นและจีน รายละเอียดจะขอให้ รมว.อุตสาหกรรมที่รับผิดชอบจะมากล่าวต่อไป

ประการที่ 5 : มุ่งสู่ digital Thailand กระทรวงดิจิทัลได้ถูกตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อเตรียมการรองรับการก้าวสู่ยุคดิจิทัล รัฐบาลได้เริ่มโครงการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน digital โดยเฉพาะด้าน internet broadband โดยจัดสรรงบประมาณ 2 หมื่น 5 พันล้านบาทที่จะให้มี internet broadband กว่า 24,000 หมู่บ้านในปีนี้ และอีก 2 หมื่นหมู่บ้านในปีหน้า เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงชนบทที่จะมีผลทั้งในเชิงของการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข การค้าผ่าน e-commerce จากชนบทสู่โลก การลงทุนใน submarine cable ด้วยงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อกับต่างประเทศเพื่อให้ไทยสามารถเป็น international gateway ของภูมิภาคในอนาคต การให้ได้มาและการเข้าถึงวิทยาการรวมถึงการสร้างบุคลากรดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งในขณะนี้ไทยได้เริ่มโครงการร่วมมือทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชนจากต่างประเทศ และได้ส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านนี้อย่างจริงจัง ทั้งในด้าน internet IOT big data และ AI รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มรณรงค์ให้ภาคเอกชนเริ่มปรับเปลี่ยนเปลี่ยนกระบวนการผลิต ยกระดับ supply chain สู่ 4.0 เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถเชื่อมโยงกับ global supply chain ที่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิตัล รัฐบาลในขณะนี้ได้แสวงหาความร่วมมือทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ และกับเอกชนที่เป็นผู้นำทางด้านนี้ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในประเทศไทย ตัวผมได้เป็นสักขีพยานในการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง รมว.อุตสาหกรรมของไทยกับ รมว.แห่ง meti เพื่อการนี้โดยเฉพาะเมื่อคราวเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆนี้

ประการที่ 6 :  Thailand, a start up nation  หมดสมัยแล้ว ที่ระบบเศรษฐกิจไทยจะถูกขับเคลื่อนโดยบริษัทขนาดใหญ่เพียบหยิบมือ ป่าที่อุดมสมบูรณ์ย่อมประกอบไปด้วยต้นไม้อันหลากหลายที่หนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ฉันใด เศรษฐกิจจะเต็มไปด้วยพลังขับเคลื่อนที่ทรงพลังหากเต็มไปด้วยผู้ประกอบการที่มีพลวัตและสร้างสรรค์ ไม่ว่าเล็ก กลาง หรือใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคเกษตร อุตสาหกรรม technology based หรือ creative economy การสร้าง ecosystem หรือสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน และสนับสนุนการบ่มเพาะและสร้าง start up อย่างจริงจัง เป็น strategic move ที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ โดยยึดในหลักการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ด้วยการจัดหางบประมาณ การให้กระทรวงคลังและตลาดหลักทรัพย์ เป็นศูนย์กลางประสานงานทั้งในด้านงบประมาณ การจัดหา seed money การให้สถาบันการเงินภาครัฐทุกแห่งในขณะนี้ขับเคลื่อนการสร้าง start up อย่างจริงจัง การจัดสถานที่หรือ working spaces สำหรับผู้ประกอบการ start up การดึงสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลอดจนสถาบันการเงิน และ venture capital อันหลากหลายมาเข้าร่วม เพื่อสร้าง mass start up ทั้งใน real sector และ fintech ใน financial sector ด้วยความเชื่อที่ว่า Start up Entrepreneur คือ ผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตความตื่นตัวกำลังเกิดขึ้นในประเทศอย่างไม่เคยมาก่อน และเรากำลังดึง start up จากต่างประเทศมาร่วมกับเรา ขอให้ติดตามงาน start up Thailand ครั้งที่สองที่ไทยจะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้

ประการที่ 7 : การเชื่อมต่อ geopolitic และ geoeconomic ที่สำคัญมี 3 ประการ  หนึ่ง คือ ความเชื่อมโยงกับ clmv การที่ประเทศจะพัฒนาไปได้นั้นความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงในเชิงของความมั่นคงแต่เชื่อมโยงในเชิงของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเติบโตเท่าไร ทั้งอนุภูมิภาคจะได้ประโยชน์จากการนั้นในอันที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ยิ่งมีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์มากเพียงใด พลังทางเศรษฐกิจของทั้งอนุภูมิภาคก็เพิ่มทวี ทั้งในเชิงของการเชื่อมต่อ supply chain ทั้งในมิติของการสร้างพลังร่วมของการท่องเที่ยว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ นโยบายการก้าวไปด้วยกัน เข้มแข็งร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมของ clmvt ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมเชื่อมโยงกว้างออกไปสู่อาเซียนโดยรวมและอนุภูมิภาคอื่นๆ

สอง คือ การเชื่อมโยงไทยเข้ากับ one belt one road ของจีน ซึ่งถือเป็นการขยับตัวทาง geopolitic ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะการเชื่อม ต่อเข้ากับ eec ซึ่งรูปแบบการพัฒนา eec นั้นต้องการให้เป็นศูนย์ logistic และเป็น port ของทั้งอนุภูมิภาค เพื่อรองรับการเข้าและออกจาก clmvt สู่โลก การเชื่อม eec ด้วยเส้นทางรถไฟเข้ากับเส้นทางรถไฟไทยจีนที่จะเชื่อมจากจีนสู่เวียงจันทร์ผ่านไทยไปยังมาเลเซียจะทำให้การเชื่อมโยง one belt และ maritime silkroad เป็นจริงโดยไทยเป็นข้อต่อสำคัญซึ่งจะยังประโยชน์ไม่เพียงกับประเทศแต่กับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาค clmvt โดยส่วนรวม

สาม คือ การร่วมผลักดันและเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีใหม่ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น RCEP ซึ่งไทยมีข้อตกลง FTA กับกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่อยู่แล้วหรือแม้แต่ TPP ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นแกนนำต่อไปก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ ไทยเราเชื่อว่าเขตการค้าเสรีทั้งสองแนวทางนี้จะยังประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งเอเชียและของโลกในอนาคต

ประการสุดท้าย : ยกเครื่องประสิทธิภาพ และความโปร่งใสภาครัฐ  นายกรัฐมนตรีและตัวผมเอง ได้ลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง การขับเคลื่อนนโยบาย ease of doing business ด้วยการลดขั้นตอน การขจัดอุปสรรค การแก้และออกกฎหมายใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การริเริ่ม integrity pact และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การเริ่มโครงการ government e-payment ของกระทรวงการคลัง ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการบริการ อีกทั้งยังช่วยขจัดปัญหาด้านคอร์รัปชั่น ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารงานงบประมาณในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากการจัดสรรตามหน้าที่สู่การจัดสรรตามวาระเชิงยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญกับการจัดสรรตามพื้นที่และกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณถูกจัดสรรอย่างมีประสิทธิผลเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนาในแต่ละพื้นที่พร้อมๆ กันนั้น พ.ร.บ.งบประมาณ และวินัยการคลัง กำลังจะมีผลในไม่ช้าเพื่อสร้าง governance กับระบบการเงินการคลังของประเทศ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความมุ่งมั่นในการปฏิรูปกลไกภาครัฐ และระบบราชการที่จะติดตามมา ความเพียรพยายามและความมุ่งมั่นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดลำดับที่ดีขึ้นจาก IMD ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสมรรถนะและประสิทธิภาพในภาครัฐสูงขึ้นถึง 6 อันดับ และได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 2 อันดับสู่อันดับ 19 ของดัชนี Global FDI confidence index โดย A.T. Kearney ครั้งล่าสุด ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าจะดีขึ้นไปอีกจากการขับเคลื่อนที่จริงจังและต่อเนื่อง นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปภาครัฐและราชการทั้งระบบต่อไปในอนาคต และไม่เพียงเท่านั้น เรากำลังจะก้าวไปอีกขั้นด้วยการยกระดับการพัฒนาการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของภาครัฐให้มีพลังยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต ซึ่งเรากำลังจะมีการประชุมร่วมของ CEO ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้ผมเรียกโดยรวมว่า ยุทธศาสตร์นำพาไทยสู่ยุค 4.0 รัฐบาลนี้มีความเชื่อมั่นว่า ก้าวย่างเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิรูปแต่เป็นการ transform ประเทศเพื่อรองรับโลกในอนาคต อีกทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดจากภายใน ในขณะเดียวกันก็สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกและที่สำคัญยิ่งคือ การมี strategic position หรือตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ที่จะสามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของ geopolitic โลกในขณะนี้ แต่คำถามสำคัญที่จะตามมาก็คือ แล้วมันจะได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องได้อย่างไร คำตอบก็คือ เป็นหน้าที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจากนี้ไปจะต้องสานต่อการปฏิรูปประเทศและสานต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะถูกกำกับด้วยคณะกรรมการ 2 คณะ อันได้แก่ คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ และ คกก.ปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยจะต้องเดินตามก้าวย่างยุทธศาสตร์และต้องมีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการทั้งสองคณะนี้กำลังจะถูกจัดตั้งในเร็วๆ นี้ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้รัฐบาลชุดนี้ จะไม่ใช่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นรัฐบาลที่เกิดจากความจำเป็นของสถานการณ์ที่ต้องการจะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นรัฐที่ล้มเหลวในอดีต และเป็นรัฐบาลที่พยายามใช้ช่วงเวลาที่ผ่านมามุ่งมั่นที่จะปฏิรูปและวางรากฐานของประเทศ เพื่อหนุนส่งให้ประชาธิปไตยที่หากเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะสามารถนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองได้ในอนาคต เราเชื่อมั่นว่า ด้วยจังหวะก้าวย่างเชิงยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ทันเวลา และด้วยความร่วมมือกับมิตรประเทศและนักลงทุนจากนานาประเทศไทยจะสามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศในยุคซึ่งบทบาทของเอเซียกำลังทะยานอย่างยากที่จะหยุดยั้งได้อีกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image