งานเข้า เริ่มถี่ รัฐบาล นุงนัง ระวัง ทับซ้อน

มิใช่แต่เวทีประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสุขภาพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “30 บาททุกโรค”

ไม่ว่าจะเป็นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เท่านั้นดอกที่ระอุคุกรุ่น

แม้กระทั่งเวทีอภิปรายว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ออกหน้าเอง

Advertisement

ก็ดุเด็ดเผ็ดร้อน

แต่ถามว่าเป้าหมายของกลุ่มผู้ออกมาคัดค้าน

ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เป็นเอ็นจีโอ เป็นนักวิชาการ รวมไปถึงบรรดาแพทย์ชนบททั้งหลาย พุ่งไปที่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นหรือไม่

Advertisement

คำตอบคือเปล่าเลย

ปลายหอกของการเคลื่อนไหวจากทุกพื้นที่

ล้วนชี้ตรงเข้าไปที่รัฐบาล

เช่นเดียวกันกับกรณี การจะประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง ส.ป.ก.กับกิจการอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะปิโตรเลียม หรือการเปิดทางให้พัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ทั้งไร่กังหันลม หรือทุ่งของแผงแปรรูปพลังงานแสงอาทิตย์

ก็ทำให้เกิดปัญหาและข้อสงสัย

สงสัยว่า

ระหว่างการให้สัมปทานปิโตรเลียมกับการประกาศพื้นที่ ส.ป.ก. อะไรเกิดขึ้นก่อนกัน

สงสัยว่า

การเปิดพื้นที่ซึ่งเดิมระบุว่ามีไว้เพื่อให้ราษฎรยากจนประกอบกิจกรรมการเกษตร ให้กับบริษัทเอกชนเข้าไปทำประโยชน์จากกิจการอื่น สามารถทำได้หรือไม่

เป็นการเอื้อต่อเอกชนหลายซ้ำหลายซ้อน

หลังจากที่บริษัทเหล่านี้ได้สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากรัฐ ด้วยราคา “รับประกัน” ที่บวกกำไรจำนวนแน่นอนเอาไว้ให้แล้ว

สงสัยว่า

ในบริษัทเอกชนที่ได้ผลประโยชน์จากการประกาศใช้กฎหมายอย่างรวบรัดเช่นนี้

จะ “บังเอิญ” มีใครในรัฐบาล หรือวงศ์วานว่านเครือ

เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

 

เป็นข้อสงสัยที่ต่อเนื่องมาจากการประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อ “ปลดล็อก” การเจรจาที่ไม่คืบหน้าในการก่อสร้างรถความเร็วสูงไทย-จีน

ที่แม้บรรดาตัวแทนของวิศวกรรมสถานหรือสภาสถาปนิกที่เข้าพบกับตัวแทนของรัฐบาล จะออกมาระบุว่า “พอใจ”

และพร้อมเปิดทางให้การเจรจา การทำสัญญา และการก่อสร้างเดินหน้า

ข้อสงสัยก็ยังไม่หายไปไหน

ยังไม่หายไปจนกว่าข้อเท็จจริงในการเจรจาจะได้รับการเปิดเผยอย่างโปร่งใส

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกำหนดคุณภาพของงานก็ดี

การกำหนดสัดส่วนใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศก็ดี

การใช้ประโยชน์จากที่ดินข้างทาง อันมี

มูลค่าและศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

จะตกอยู่ในมือฝ่ายไหนก็ดี

เงื่อนไขสัญญาเงินกู้ ว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายหรือเป็นสัญญาบีบรัดฝ่ายผู้กู้หรือไม่ก็ดี

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ยังตามมาด้วยคำถามคล้ายคลึงกันกับกรณีข้างต้น

ว่ามีคนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ

เข้าไปมีส่วนได้เสียด้วยหรือไม่

 

สามปีผ่านไป หลังการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน

คำถามที่ คสช. และรัฐบาล ไม่คิดว่าจะได้รับฟัง และไม่เคยได้รับฟังในช่วงแรกของการอยู่ในอำนาจ ก็เริ่มดังระงมขึ้นมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามที่จี้เข้าไปยังประเด็นที่เป็นจุดแข็งที่สุด

ซึ่งขณะเดียวกันก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของฝ่ายผู้มีอำนาจ

ก็คือคำถามว่าด้วยความสุจริต

คำถามว่าด้วยความโปร่งใส

ไม่เพียงแต่กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เท่านั้น ที่ถูกติดตามตรวจสอบ

กิจกรรมอะไรก็ตามที่อาจจะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาล อาทิ กรณีพลังงานทดแทน ก็ถูกติดตามตรวจสอบ

รวมไปถึงเรื่องที่กระทบกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง อย่างกรณีแก้ไขกฎหมายบัตรทอง-หลักประกันสุขภาพ

ก็ยิ่งถูกติดตามตรวจสอบ

เป็นการตรวจสอบที่ติดตามต่อเนื่องกันมาเป็นระลอก

อันบ่งชี้แนวโน้มอันใกล้ให้เห็นว่า รัฐบาลยังจะต้องเชิญหน้ากับการตรวจสอบที่ถี่ขึ้น เข้มข้นขึ้น เป็นลำดับไป

ตั้งการ์ดไม่ดี มีแผลแตกให้สังคมเห็น

ที่เผชิญหน้าอยู่ในวันนี้

อาจจะเป็นแค่เรื่องขี้ฝุ่นขี้ผง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image