ยุติธรรม-จินตนาการ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

วิวาทะเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ…. ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนยังไม่จบลงง่ายๆ
เพราะที่ประชุม กกต.ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนี้จะทำความเห็นแย้งในหลายประเด็น ทำให้จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สนช. และ กกต. และนำร่างล่าสุดกลับเข้าที่ประชุม สนช.อีกครั้งหนึ่ง
หนึ่งในประเด็นหลักที่ กกต.จะทำความเห็นแย้งก็คือ ร่างกฎหมายใหม่ที่บัญญัติให้ กกต.ทุกคนต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เมื่อกฎหมายใช้บังคับและ กกต.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ขัดหลักนิติธรรมและนิติประเพณี

นอกจากนี้อีก 2-3 ประเด็นเป็นเรื่องใดบ้าง คงต้องรอติดตามผลการประชุม จากเอกสารสรุปส่งให้ สนช.ภายในสัปดาห์นี้

ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย อย่างน้อยก็เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามโรดแมป วันไหน ยังไม่รู้ ผมขอร่วมวงฝากประเด็นที่ยังข้องใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นก่อนการตรากฎหมาย สมทบไปให้พิจารณาด้วยเลย

ใครจะคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องปลีกย่อยก็สุดแต่ละคนมอง แต่ในมุมของผม เห็นเป็นเรื่องใหญ่ครับ

Advertisement

ไม่เช่นนั้นต่อไปก็จะหมกเม็ดหลักการสำคัญๆ เอาไว้ ไปโผล่เอาภายหลังในขั้นตอนการพิจารณา หรือการแปรญัตติวาระ 2, 3 เข้าข่ายมัดมือชกชาวบ้านชัดๆ..

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 วรรคสอง เขียนว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึ่งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วรัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่ผมยกเอาความตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้าง เพราะเชื่อมโยงถึงการยกร่างกฎหมายฉบับนี้หรือฉบับอื่นๆ ต่อไป เฉพาะฉบับนี้กรรมาธิการเสียงข้างมากของ สนช.แก้ไขร่างเดิม ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ กกต.ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้ และมีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่ต่อไปจนครบวาระ เป็นให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญ ซึ่งในขั้นตอนที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเปิดรับฟังความคิดเห็น ในร่างเดิมไม่มีประเด็นเซตซีโร่และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ เปิดเผยต่อประชาชน เพิ่งมาเกิดขึ้นภายหลัง ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ

ประเด็นจึงมีว่า การเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญดังกล่าวนี้ จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77  วรรคสอง ก่อนหรือไม่

ความคิดเห็นสนับสนุนหรือโต้แย้ง การเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลัง เฉพาะในที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญและที่ประชุมสภานิติบัญญัติฯ โดยไม่ผ่านการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มองค์กร และประชาชนภาคส่วนต่างๆ จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

กรณีเช่นนี้ควรมีทางออกอย่างไร เพื่อเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติต่อไป ต้องนำหลักการสำคัญที่เปลี่ยนแปลงใหม่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ก่อนการตัดสินใจของที่ประชุมสภานิติบัญญัติฯหรือไม่..

ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันคณะผู้มีอำนาจชุดใหม่ ทำอะไรตามใจ ตามจินตนาการของตัวเองเป็นใหญ่
ไม่ว่าร่างกฎหมายใดก็ตามเมื่อบังคับใช้แล้ว ถ้าคณะผู้มีอำนาจใหม่ไม่ว่ามีที่มาอย่างไร เกิดจินตนาการบ้างว่า จินตนาการเกี่ยวกับการเซตซีโร่และผลที่ตามมา ตลอดจนการปฏิรูปด้านต่างๆ ของคณะผู้มีอำนาจเดิมไม่ดีพอ แต่ของพวกเขากลุ่มใหม่บรรเจิด เลอเลิศประเสริฐศรีกว่า เห็นควรให้เซตซีโร่ทุกเรื่อง ทุกกลไก ตามกฎหมายที่กลุ่มอำนาจเดิมจินตนาการไว้ โดยอ้างหลักปฏิรูปทำนองเดียวกันบ้าง บรรทัดฐานแห่งความยุติธรรมจะหาได้ที่ไหน อย่างไร

ถ้าถือเอาอำนาจเป็นใหญ่ ไม่ใช่ความยุติธรรม หลักนิติธรรมเป็นใหญ่ ปัญหาทำนองนี้จะเกิดต่อไปกลายเป็นความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

เมื่อยังไม่มีเครื่องมือที่จะตัดสินว่าจินตนาการของใครดีกว่ากันจนกว่าผลการปฏิบัติจะปรากฏให้เห็น การโยนประเด็นไปให้ประชาชนตัดสิน ไม่ว่าด้วยการทำประชามติรายประเด็น หรือการเลือกตั้งเป็นหนทางชี้ขาดความเห็นต่างดีที่สุด…

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image