ด่วน! สนช.มติเอกฉันท์ ผ่าน “กม.ยุทธศาสตร์ชาติ – กม.ปฏิรูปฯ” 2 ฉบับรวด

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเอกฉันท์ 218 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ…. ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดย พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมาย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 17 คน

ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอความเห็นต่อรัฐสภา หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นด้านต่างๆให้เสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาและเสนอต่อ ครม.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ต่อมา ครม.ต้องส่งร่างยุทธศาสตร์ชาติให้สนช.ภายใน 30 วัน โดย สนช.ต้องให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจาก ครม. และเมื่อ สนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกฯนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสนช.

จากนั้น ที่ประชุมสนช.ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีมติเอกฉันท์ 216 คะแนน งดออกเสียง 4 คะแนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. … ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนนายกฯจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จะทำให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดโดยทันที ซึ่งสาระสำคัญของร่างดังกล่าว คือ ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จำนวน 11 ด้าน คือ 1.ด้านการเมือง 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมาย 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านการศึกษา 6.ด้านเศรษฐกิจ 7.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.ด้านสาธารณสุข 9.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 10.ด้านสังคม และ 11.ด้านอื่นตามที่ครม.กำหนด ด้านละไม่เกิน 13 คน โดย ครม.เป็นผู้แต่งตั้ง มีวาระการดำรง 5 ปี โดยแต่ละด้านต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วันจากนั้นเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะพิจารณา อีกทั้งเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พิจารณาด้วยว่า ร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างแผนการปฏิรูปประเทศก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image