วสท.แนะถ่ายโอนเทคโนโลยีไฮสปีดเทรนจากจีน ไม่ใช่แค่ซ่อมบำรุง อนาคตไทยต้องสร้างเองได้

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ทีซีเอ) สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) และสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดแถลงข่าวในหัวข้อ กระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอภาครัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นคราชสีมา ที่อาคาร วสท.

นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ(วสท.) เปิดเผยว่า หากจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนมาให้กับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นระดับช่าง โดยจะต้องไม่ใช่เพื่อการซ่อมแซม หรือซ่อมบำรุง คือ ส่งคนไทยไปอบรมที่จีนเท่านั้น เพราะสิ่งที่ต้องการเพื่อให้ในอนาคตประเทศไทยสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้เอง ในลักษณะเดียวกันกับที่จีน และเกาหลีใต้ เคยดำเนินการมาแล้ว เพราะในอดีตทั้ง 2 ประเทศ ก็ไม่สามารถก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ ดังนั้นจึงอยากถือโอกาสนี้เรียนรู้เพื่อให้ไทยสามารถก่อสร้างได้

“เรื่องนี้ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เบื้องต้นนายวิษณุ เห็นด้วย และเห็นว่า วสท.น่าจะเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมพันธมิตรที่เป็นสมาคมต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานทางด้านวิชาการ ดังนั้น วสท.จึงถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่นายวิษณุ ให้ไว้ และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ทาง วสท.จึงได้ดำเนินการต่อ”นายธเนศ กล่าว

นายคมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้คงจะไม่เกี่ยวข้องกับรถไฟไทย-จีนเพียงอย่างเดียว เพราะต่อไปก็จะมีรถไฟไทย-ญี่ปุ่น และอื่นๆอีก ดังนั้นการลงทุนหลักแสนล้านจึงไม่ควรมีข้อผิดพลาดทำให้ไทยเสียโอกาสอีก โดยเฉพาะตอนนี้ ม.44 ต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด โดยที่ผ่านมาประเทศจีนที่พัฒนาได้เร็ว เพราะจีนมีรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุด สามารถระบุกระบวนการขับเคลื่อนได้เลย ขณะที่ประเทศไทยเมื่อใช้ ม.44 ก็มีศักยภาพและเบ็ดเสร็จเหมือนกันแต่หากลงทุนแล้วทำให้ประเทศเสียโอกาส ต้องย้อนกลับไปดูว่าคนที่ทำกระบวนการต่างๆ เหล่านี้มีความมุ่งมั่นขนาดไหน แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ก็ต้องมีความรอบคอบ และต้องมีองค์ประกอบในภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะนี่ คือ ทิศทาง และวิสัยทัศน์ที่จะวางประเทศในอนาคตต่อไป เพราะการที่จะไปไทยแลนด์ 4.0 จะไม่สามารถเป็นไปได้เลย หากเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น โดยจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีเอง

Advertisement

“หากโปรเจ็กต์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ควรสร้างอากาศให้กับประเทศ และภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมาการถ่ายโอนเทคโนโลยีไม่สำเร็จ โดยทุกคนทราบว่าประเทศไทยมีศักยภาพผลิตรถยนต์เก่งมาก แต่กลับไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง และไม่สามารถผลิตรถยนต์ยี่ห้อของตัวเองได้ เพราะรับจ้างผลิตอย่างเดียว ดังนั้น ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตก็จะต้องมีภาคอุตสาหกรรมของไทยเข้าไปร่วม เพื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี” นายคมสัน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image