ม.มหิดล ห่วงบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มปัญหายาเสพติดในโจ๋

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ว่า หากไม่สามารถควบคุมการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น จะเพิ่มปัญหายาเสพติดในสังคมไทยอย่างแน่นอน โดยขณะนี้พบเห็นวัยรุ่นจำนวนมากที่นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่มีการโฆษณาส่งเสริมการขายในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง ด้วยการอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย มีแต่ไอน้ำกับสารนิโคติน มีการผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรสผลไม้และรสขนม รวมทั้งสามารถเลือกน้ำยาที่เวลาสูบแล้วไอน้ำมีจำนวนที่มากกว่าควันจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งล้วนเป็นเทคนิคการยั่วยวนให้เชิญชวนให้เริ่ม ไม่ใช่เลิกบุหรี่ และสารนิโคตินเพียงปริมาณน้อยๆ ก็ยังเข้าสู่สมองของเด็กอย่างรวดเร็วภายใน 7 วินาที ที่จะทำให้เกิดอาการสุกงอม ของสมองส่วนกระตุ้นการติดยา นั่นหมายถึงวัยรุ่นไม่ว่ามีสารนิโคตินแค่ไหนก็จะกระตุ้นให้ติดง่ายและลากยาวจนเป็นผู้ใหญ่และยิ่งเลิกยาก ทั้งนี้นอกจากนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดตัวเดียวกันกับที่มีในบุหรี่ธรรมดา นิโคตินยังเป็นอันตรายต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของวัยรุ่น และควันไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้ายังประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายอีกหลายชนิด รวมทั้งสารก่อมะเร็งด้วย

“หากดูจากแนวโน้มการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา จะพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมต้นเท่ากับ 5.3% มัธยมปลายเท่ากับ 16% รวมแล้วมีจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 ล้านคน ขณะที่การใช้ในผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 25 ปีมีเพียง 3.7% โดยบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้พุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ขณะที่องค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) เพิ่งจะมีการออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากก่อนหน้านี้กฎหมายให้อำนาจเอฟดีเอในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในขอบเขตจำกัด ถ้าหากผู้ผลิตจะขึ้นทะเบียนที่สูบบุหรี่ช่วยเลิกบุหรี่ ที่น่าเป็นห่วงคือข้อมูลที่พบว่าวัยรุ่นอเมริกาที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มักจะมีการใช้ยาสูบชนิดอื่นพร้อมกัน รวมทั้งกัญชาและสิ่งเสพติดที่เป็นยาควบคุมชนิดอื่นด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่งว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในวัยรุ่นไทยจะเพิ่มปัญหาการใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน” นพ.สุริยเดว กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image