ลงพื้นที่ป้อมมหากาฬวันสุดท้าย นักวิชาการย้ำ “คนจนไม่ใช่คนอื่น” หวังกทม.ไม่รื้อบ้านที่ถูกแขวน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการลงพื้นที่เพื่อพิจารณาคุณค่าบ้านในชุมชน เป็นวันที่ 2 ต่อเนื่องจากวานนีโดยเป็นวันสุดท้ายก่อนมีการประชุมร่วมกันต่อไป สำหรับคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ 2.ฝ่ายกทม. วันนี้นำโดย นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่า กทม. ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา เป็นต้น 3. ฝ่ายทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ในวันนี่เป็นการพิจารณาบ้านที่ “ถูกแขวน” คือ เป็นบ้านที่กทม. ยังไม่ตัดสินใจในการดำเนินการ อาทิ บ้านเลขที่ 107 ผู้อยู่อาศัยคือ นายพรเทพ บูรณะบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมืองกล่าวว่า บ้านหลังนี้มีความสำคัญโดยตั้งอยู่บนแนวแกนตรอกพระยาเพชรปาณี สะท้อนคุณค่าทางสังคม อีกทั้งกลไกการจัดการและพัฒนาชุมชน

จากนั้น คณะกรรมการ 3 ฝ่าย เดินเท้าต่อไปยังบ้านเลขที่ 179 ซึ่งมีนางบุญธรรม วิไล ผู้อยู่อาศัย อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับตัวบ้าน โดยแผ่นป้ายข้อมูลด้านคุณค่าที่สรุปโดยนักวิขาการระบุว่า เป็นบ้านที่แสดงหลักฐานการตั้งชุมชนบ้านไม่ชานพระนคร อีกทั้งมีความทรงจำด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต่อมา มีการพิจารณาบ้านเลขที่ 159 ซึ่งมีข้อมูลระบุว่ามีการปลูกสร้างก่อนพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535 ผู้อยู่อาศัยเดิมคือ นายกริ้ง ประจวบสุข เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าว ประเด็นที่ถูกนำเสนอเป็นสำคัญคือ ตัวบ้านมีการอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2495 ซึ่งขัดแย้งกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ที่ระบุว่ามีผู้ย้ายเจ้าใน พ.ศ.2532

Advertisement

เวลาประมาณ 15.30 น. มีการสรุปข้อมูลโดยภาพรวมของการลงพื้นที่ นายธนภล วัฒนกุล จากสำนักวิจัยและพัฒนา ม.ศิลปากร กล่าวว่า ในการพิจารณา ควรยึดเรื่อง “พื้นที่” เป็นหลัก คือ ตรอกพระยาเพชรปาณี กับตรอกถ่าน ซึ่งมีเรื่องราว และขอให้คำนึงวิถีชีวิตที่สืบเนื่อง

นางสุดจิตร เศวตจินดา สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า บ้านหลายหลังที่มีการพิจารณาคุณค่าในวันนี้อาจดูเหมือนบ้านธรรมดา ไม่คงทนถาวร แต่ก็สะท้อนถึงความพยายามแก้ปัญหาของมนุษย์ ที่จะทำให้ตนสามารถอยู่อาศัยได้ เป็นภาพแห่งความจริงของชีวิต หากฝืนทำสวนสาธารณะหลังกำแพง จะกลายเป็นสวนที่เปล่าเปลี่ยว ไม่ได้อะไร

Advertisement

นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ กล่าวว่า เวลามีการถกเถียงในประเด็นกฎหมาย ตนอยากแสดงความเห็นว่า เมื่อครั้งที่มีการเวนคืนนั้น กทม.กระทำในช่วงที่ชุมชนไม่ได้มีโอกาสปกป้องตัวเอง เนื่องจากสังคมไทยในช่วงเวลานั้นยังไม่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการที่ร่วมพูดคุยยังย้ำในประเด็นที่ว่า คนจนไม่ใช่คนอื่น ขอให้ร่วมกันหาทางออกอย่างเหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image