แพทย์-เครือข่ายสุขภาพจี้ ‘รัฐบาล’ สอบข้อเท็จจริงกรณี’เงินสนับสนุนเอ็นจีโอ’ จริงหรือไม่..

หลังจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบกรณีที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดโดยระบุว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลว่ากรณีการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เมื่อซื้อปริมาณมากจะได้รับส่วนลด และกันเงินที่เหลือมอบให้กลุ่มเอ็นจีโอทำภารกิจองค์กร โดยขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้นพ.ปิยะสกล ออกมาขอโทษนั้น

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯจะขอจับตามองการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ.. ที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ โดยจะจับตามองว่า สุดท้ายแล้วคณะกรรมการฯจะนำข้อสรุปเสนอต่อนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อย่างไร เนื่องจากในการประชุมเวทีปรึกษาสาธารณะ ทางเครือข่ายประชาชนยืนยันแล้วว่า ให้มีการปรับแก้กฎหมายได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่เสนอ คือ 4 ประเด็นเห็นด้วย 5 ประเด็นเห็นต่าง และ 7 ประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนเห็นต่างนั้น ไม่ควรนำสู่การแก้ไขกฎหมาย แต่ควรฟังเสียงประชาชน และให้ความเห็นต่างยุติก่อน โดยนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเฉพาะประเด็น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เป็นผู้ดำเนินการ

“พวกเราไม่ได้ขัดขวางการแก้กฎหมายบัตรทอง แต่ต้องแก้ที่ดี เพราะถ้าแก้แย่แล้วจะแก้ทำไม ดังนั้น จึงมีข้อเสนอดังกล่าว และเราคาดหวังว่า อาจารย์วรากรณ์ ในฐานะประธานจะรับฟัง พร้อมทั้งกรรมการทั้งหมดด้วย ซึ่งหากสุดท้ายไม่รับฟัง พวกเราก็จะเดินหน้าคัดค้านจนถึงที่สุด” นายนิมิตร์กล่าว และว่า ส่วนประเด็นที่มีพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดโดยระบุถึงรัฐมนตรีว่าการสธ. เป็นคนให้ข้อมูลว่าเอ็นจีโอได้รับประโยชน์จากเงินองค์การเภสัชกรรม(อภ.)นั้น ตนขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ไปเลยว่า ใครได้รับผลประโยชน์อะไร และการจัดซื้อยาก็ไม่ใช่ผลประโยชน์ เรื่องนี้ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ต้องออกมาให้ข้อเท็จจริงด้วย เพราะมีข้อมูลทราบเรื่องนี้ดีที่สุด

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา  ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ดสปสช.) ชุดปัจจุบันและอดีต เมื่อกลุ่มเอ็นจีโอได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบเอ็นจีโอแล้ว รัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการในการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบกรณีการสนับสนุนอื่นๆจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ต้องตรวจสอบด้วยว่ามีหรือไม่ อย่างไรด้วย

Advertisement

“เมื่อเอ็นจีโอท้าให้นายกฯตรวจสอบเรื่องการรับเงินส่วนลดในการซื้อยาจากสปสช.แล้ว ก็อยากให้นายกฯและรัฐบาลตรวจสอบเส้นทางการเงินเหล่านี้ด้วยว่าจริงหรือไม่”พญ.เชิดชู กล่าว

พญ.เชิดชู  กล่าวถึงกรณีภาคประชาชนเสนอให้รวมระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้งประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมเข้าเป็นระบบเดียวหรือมาตรฐานเดียวกันนั้น ว่า  อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าข้าราชการมีส่วนร่วมสมทบด้วยการรับเงินเดือนน้อยและต้องประพฤติตนภายใต้ระเบียบของข้าราชการ และผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบประกันสังคมเป็นรายเดือน เพราะฉะนั้น การเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ ประชาชนทุกคนต้องร่วมสมทบ เพราะฉะนั้น ผู้ใช้สิทธิบัตรทองต้องร่วมสมทบด้วย จะบอกว่าร่วมสมทบแล้วด้วยการจ่ายภาษีไม่ได้ เพราะกลุ่มอื่นเค้าก็จ่ายภาษีเช่นกันแต่ต้องมาสมทบนอกเหนือภาษีด้วย

“การที่จะให้รัฐจัดบริการสาธารณสุขให้ฟรีและดีด้วย คนไทยต้องร่วมกันจ่ายภาษีในอัตราที่มาก อย่างเช่น  ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่รัฐจ่ายบริการสาธารณสุขให้ฟรี เพราะประชาชนมีการจ่ายภาษีเงินได้ถึง 40-45 % จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 25 % ขณะที่คนไทยจ่ายภาษีน้อยแล้วรัฐบาลจะเอาเงินจากไหน มีการบอกต้องช่วยคนจนเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่กลับบอกไม่ต้องการการสงเคราะห์ ถามว่ารถเมล์ฟรี รถไฟฟรีเป็นการสงเคราะห์หรือไม่ และถ้าคนที่จะให้มีส่วนร่วมสมทบบัตรทองก็เป็นคนที่จนไม่จริงเท่านั้น”พญ.เชิดชูกล่าว

พญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า  มีมาตราหนึ่งที่ตนไม่เห็นด้วย คือ มาตรา 29 เรื่องรายได้ของสปสช.   เนื่องจากมีการกำหนดว่าให้สปสช.รับบริจาคได้ ถามว่าเป็นการเปิดช่องให้สปสช.รับบริจาคจากแหล่งไหนก็ได้ ซึ่งจะรวมถึงจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ด้วยหรือไม่ ในเมื่อที่ผ่านมามีการเปิดเผยออกมาว่าสปสช.ได้รับเงิน  รวมถึง มาตรา 42 เรื่องการยกเลิกไล่เบี้ยผู้กระทำผิดได้ เอ็นจีโอเห็นด้วยแต่ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำผิดโดยการประมาทเลินเล่อร้ายแรงไม่ควรยกเลิกการถูกไล่เบี้ยเอาผิด เพราะข้าราชการทั่วไปหากมีการตรวจสอบว่ากระทำการประมาทเลินเล่อร้ายแรงต้องถูกไล่เบี้ยเพื่อให้รับผิดชอบ เว้นแต่กรณีที่ประมาทเลินเล่อไม่ร้ายแรงก็ไม่ต้องไล่เบี้ย

“ส่วนมาตรา 13 องค์ประกอบบอร์ดสปสช. พญ.เชิดชู กล่าวว่า ตนเสนอให้ยกเลิกสัดส่วนที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชนด้านต่างๆออกไป แล้วให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)เข้ามาเป็นตัวแทนของภาคประชาชนแทน โดยให้เลือกเป็นตัวแทน 5 ภาคทั้งเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออกและตะวันตก เพราะเป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง มีความรู้เรื่องสุขภาพและอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างกฎหมายใหม่คือ แก้มาตรา 35 เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนให้ครอบคลุมรวมถึงรองเลขาฯสปสช.และผู้ช่วยเลขาฯสปสช.ด้วยและมาตรา 36 เรื่องอำนาจเลขาฯสปสช.ต้องลดลง โดยกำหนดให้ต้องทำตามในเรื่องที่ผ่านมติบอร์ดแล้ว และมาตรา 37 การตรวจสอบภายใน ต้องยกเลิกที่ให้ขึ้นตรงและรายงานผลต่อเลขาฯสปสช. โดยแก้เป็นรายงานผลต่อบอร์ดแทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image