สปสช.แจงงบฯองค์การเภสัชกรรม มีระเบียบการใช้ให้ทั้ง’เอ็นจีโอ-กระทรวงสาธารณสุข’

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สำหรับงบประมาณดังกล่าวขององค์การเภสัชกรรม(อภ.)นั้น ไม่ใช่เงินส่วนลด แต่เป็นเงินที่เรียกว่า ส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐ โดยมีการตั้งระเบียบออกมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นเงินที่กำหนดตามเงื่อนไขว่า หากหน่วยบริการหรือหน่วยงานใดซื้อยาจาก อภ.และจ่ายตรงตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด จะสามารถใช้เงินส่วนนี้ในกิจกรรมภาครัฐที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยต้องทำเรื่องเสนอโครงการมา ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติโครงการ โดยร้อยละ 80 จะเป็นหน่วยบริการ รวมทั้งกรมต่างๆในกระทรวงสาธารณสุขเสนอขอมา และร้อยละ 20 สปสช.จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโครงการตามเกณฑ์ที่กำหนด

“โดยตั้งแต่ปี 2557-2559 พบว่าเอ็นจีโอรับโครงการไปส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐเพียง 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ปวยติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV / เอดส์แห่งประเทศไทย วงเงิน 150,000 บาท ขณะที่โครงการที่ขอจากหน่วยงานอื่นๆก็มี เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรด้านการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่เขต3 นครสวรรค์(หลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 330 ชั่วโมง) รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี วงเงิน 503,820 บาท  เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามเกณฑ์และการส่งมอบเงิน ก็ต้องส่งมอบงานให้เห็นได้ชัดก่อน เรื่องนี้จึงเป็นไปตามระเบียบทั้งหมด” ทพ.อรรถพร กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.)กล่าวถึงกรณีภาคประชาชนมีข้อเสนอว่าขอเป็นหนึ่งในคำนิยามของสถานบริการ เพื่อให้การสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร ในการแก้ไข พ.ร.บ.ฯ ว่า จริงๆทุกคนรู้ว่าการดำเนินงานของ พ.ร.บ.บัตรทองมีปัญหา ซึ่งทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียพยายามแก้ไขมาโดยตลอด คิดว่าการแก้ไข พ.ร.บ. เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกัน  ซึ่งขณะนี้งบประมาณที่สปสช.เป็นผู้ดำเนินงานก็ไม่เพียงพอ การที่ภาคประชาชนต้องการเข้ามาเป็นหนึ่งในคำนิยามของสถานบริการบริการเพื่อให้การสนับสนุนองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรตน เข้าใจว่าต้องการเข้ามาช่วยเหลือ แต่คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นควรให้เป็นหน้าที่ขององค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงได้ทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า

“หากต้องการช่วยเหลือจริงคิดว่าภาครัฐสามารถจัดการได้ด้วยช่องทางอื่น อย่างไรก็ตามในส่วนข้อเสนอที่ภาคประชาชนเสนอทั้งหมดตนเห็นว่าก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถเสนอได้ แต่ขณะนี้เรายังติดปัญหาว่าทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นยังมองกันในคนละมุม ดังนั้นหากจะให้ระบบสามารถเดินไปได้ ประชาชนได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพต้องไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายต้องหันมาคุยกันเพื่อปรับมุมมองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image