คุณภาพคือความอยู่รอด : เจ็บแล้วต้องจำ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

กรณีไฟไหม้ตึก Grenfell Tower ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ตัวตึกก็เสียหายทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัคคีภัยของอังกฤษ วิเคราะห์เบื้องต้นแล้วคาดว่า น่าจะเป็นที่แผ่น Aluminium Cladding ราคาถูกที่มีไส้กลางเป็นพลาสติกชนิดที่ติดไฟง่าย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ซ้ำซากในหลายประเทศด้วย

เรื่องการใช้แผ่น Aluminium Cladding ตามที่เป็นข่าวนี้ สถาปนิกไทยยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่า ในบ้านเรามีการใช้แผ่นที่ว่านี้มากน้อยเพียงใดในอาคารสูง

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว การป้องกันอุบัติเหตุอันตรายอย่างได้ผล จำเป็นจะต้องศึกษาถึง “สาเหตุและผล” ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการสอบสวนอุบัติเหตุที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อจะได้รู้ว่า “เกิดจากอะไร” หรือ “ทำไมถึงเกิด” แล้วนำสาเหตุนั้นมาใช้เป็นวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต

Advertisement

ผลลัพธ์ที่ได้จากการสอบสวนและวิเคราะห์อุบัติเหตุจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะกรณีที่ร้ายแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก จะเป็นที่มาของ “มาตรการป้องกันล่วงหน้า” เพื่อการสร้างเสริมความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

การเรียนรู้จากประสบการณ์ (ทั้งจากกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา และกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ) ด้วยการตอกย้ำในคำถามที่ว่า “เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์” (What we learn from experiences?) จึงมีความสำคัญยิ่งต่อสังคมไทยทุกวันนี้ เพราะอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ควรจะเป็นกรณีใหม่ที่เกิดจากสาเหตุใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต

คือ เราจะต้องใช้ “อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น” เป็นบทเรียน เราต้องไม่ให้เหตุร้ายต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เกิดขึ้นซ้ำรอยเหมือนเดิมอีกในอนาคต

Advertisement

ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ เราต้องจดจำ และที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องรู้จักเข็ดหลาบ พูดง่ายๆ ว่า “เจ็บแล้วต้องจำ” แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในบ้านเราสำหรับกรณีการป้องกันอุบัติเหตุอันตราย และการสร้างเสริมความปลอดภัยนั้น ดูเหมือนกับเรา “เจ็บแล้วไม่จำ” เพราะเกิดแล้วเกิดอีกแบบซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุอันตรายบนท้องถนน ในโรงงาน บ้านเรือน ร้านค้า โรงแรม คอนโดมิเนียมหรือสาธารณภัย

การเรียนรู้จากประสบการณ์ ยังจะทำให้เรารู้ว่า เรากำลังอยู่ภายใต้ “ความเสี่ยง” อะไรบ้าง แล้วจะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันเบื้องต้นใน “อันตราย” เหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image