จลาจลกรุงธนบุรี 2325 บิดาสุนทรภู่อยู่กองกำลังควบคุมสถานการณ์

บ้านปูนของพระยาสุริยอภัย ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราช (ภาพจากหนังสือ “สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 222 ปี” จัดทำโดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547)

จลาจลกรุงธนบุรี พ.ศ. 2325 บิดาสุนทรภู่น่าจะอยู่ในกองกำลังของพระยาสุริยอภัย ที่บ้านปูน (ต่อไปข้างหน้าเป็นวังหลัง)

สถานการณ์จลาจล

พระยาสุริยอภัย (ทองอิน เป็นหลาน ร.1) เมื่อจลาจลกรุงธนบุรี ได้รวบรวมกำลังลงจากเมืองนครราชสีมา ตั้งกองควบคุมสถานการณ์อยู่บ้านปูน (สวนมังคุด) เพื่อรอท่าเจ้าพระยาจักรี

[บ้านปูน อยู่ระหว่างวัดอมรินทร์กับสวนมังคุด (มีบอกในพระราชวิจารณ์ของ ร.5) ปัจจุบันเป็นบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ต่อเนื่องตลาดตรอกวังหลัง]

แต่ถูกล้อมโจมตีโดยกลุ่มพระยาสรรค์ ครั้งนั้นขุนสุระกับนายบุนนาก ร่วมกันยกพรรคพวกสู้รบแก้ไขจับได้พระยาสรรค์ ส่งให้พระยาสุริยอภัย

Advertisement

โดยไม่พบหลักฐานขณะนี้ แต่น่าเชื่อว่าบิดาสุนทรภู่ซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี จะอยู่ในกองกำลังป้องกันบ้านปูนของพระยาสุริยอภัย เพราะเมื่อได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังหลัง ฝ่ายบิดากับมารดาของสุนทรภู่จึงอยู่ใกล้ชิดระดับเครือญาติ

วังหลัง กับตระกูลพราหมณ์

ตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรบุรีใกล้ชิดกรมพระราชวังหลัง แม้ไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่เทียบดูได้จากเรื่องราวของตระกูลพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน ดังนี้

เมื่อนายทองด้วง (ต่อไปคือ ร.1) เป็นหลวงยกกระบัตร อยู่เมืองราชบุรี ลุ่มน้ำแม่กลอง แต่งงานกับท่านนาค ธิดาเศรษฐีมอญ เมืองอัมพวา

Advertisement

เครือข่ายผู้คนมีอยู่แล้ว ถึงเมืองเพชรบุรี ลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ดูจากคำบอกเล่าความเป็นมาตระกูลพระยาสีหราชเดโชชัย ต้นนามสกุล “สุรนันท์” มีวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกในหนังสือ การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2529)

เครือข่ายสำคัญมาก คือตระกูลพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช (มี 3 คนพี่น้อง) ตั้งแต่ก่อนกรุงแตก 2310 ขึ้นไปเมืองเพชรบุรี แล้วพำนักอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี

หลังกรุงแตก ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ทางเขาพระฉาย เมืองสระบุรี พี่น้องคนหนึ่งแยกไปคุมกำลังอยู่บ้านวังม่วง ริมแควป่าสัก แล้วรับราชการกับพระเจ้าตาก สังกัดเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นที่ขุนสุรสงคราม หรือรู้จักทั่วไปในชื่อ ขุนสุระ ผู้ก่อกบฏร่วมกับนายบุนนาก บ้านแม่ลา ยึดกรุงธนบุรีให้เจ้าพระยาจักรี หลังปราบดาภิเษกได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยาสีหราชเดโชชัย

ตลาดวังหลัง บริเวณบ้านปูนยุคกรุงธนบุรี (ภาพจาก www.duetdiary.com)

บรรพชนเป็นพราหมณ์เมืองเพชรบุรี

พ่อแม่สุนทรภู่เป็นเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี สุนทรภู่เขียนบอกไว้เอง อยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี (ฉบับตัวเขียนพบเพิ่มอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ)

อ. ล้อม เพ็งแก้ว ได้สอบชำระนิราศเมืองเพชรบุรีและนำเสนอต่อสาธารณชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2529

พบกลอนนิราศที่สุนทรภู่กล่าวถึงบรรพชนว่าโคตรญาติย่ายายทั้งสายพ่อและสายแม่ ล้วนเป็นตระกูลพราหมณ์รามราช ตั้งบ้านเรือนอยู่ย่านเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ กลางเมืองเพชรบุรี ต่อมากรุงแตกก็แยกย้ายไปคนละทิศละทาง บ้างแก่เฒ่าล้มตายจนลูกหลานไม่รู้ความเป็นเครือญาติกัน แต่สุนทรภู่รู้ว่ามีพี่น้องมากมายอยู่เมืองเพชรบุรี ดังกลอนตอนหนึ่งว่า

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา

เทวฐานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ

ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ

เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย

แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

แสดงว่าบรรพชนสุนทรภู่เป็นพราหมณ์พิธี เป็นพราหมณ์นักบวช ไม่ใช่พราหมณ์พ่อค้า จึงมีบ้านเรือนอยู่ตรงเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์

จากเพชรบุรี ย้ายเข้าอยุธยา

ปู่ย่าตายายของสุนทรภู่ น่าจะโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในอยุธยา (อาจอยู่ที่เกาะมหาพราหมณ์) แล้วรับราชการจนเกี่ยวดองกับตระกูลบ้านใหญ่ (ของ ร.1) บริเวณป้อมเพชร วัดทอง (วัดสุวรรณดาราราม)

ร่องรอยนี้สุนทรภู่เขียนบอกไว้ในนิราศพระบาท เมื่อนั่งเรือขึ้นถึงอยุธยา เห็นซากกรุงแตกย่อยยับ แล้วนึกถึงคำปู่ย่าตายายที่เคยอยู่กรุงเก่า เล่าว่าเมื่อบ้านเมืองดีมีความจำเริญ ฯลฯ ว่า
แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ

กษัตริย์สืบสุริย์วงศ์ดำรงโลก ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ

เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ

พ่อแม่ของสุนทรภู่ น่าจะอยู่ใกล้ชิดกับวังหลังตั้งแต่ก่อนกรุงแตก แล้วติดสอยห้อยตามกันมา กระทั่งเป็นเจ้าวังหลัง (ใน ร.1) จึงวางใจให้แม่สุนทรภู่เป็นแม่นมในธิดาวังหลัง

แม่นม เป็นคนเลี้ยงดูลูกเจ้านายโดยให้น้ำนมแทนแม่จริง ต้องเป็นที่วางใจระดับเครือญาติ มีตำราโดยเฉพาะสำหรับคัดเลือกคนเป็นแม่นม

สุนทรภู่ เป็นผู้ดีบางกอก เกิดในวังหลัง สมัย ร.1 อยู่เรือนแพ ปากคลองบางกอกน้อย (รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ. นครปฐม)

พราหมณ์รามราช

พราหมณ์เมืองเพชรบุรี เป็น “พราหมณ์รามราช” (ตามที่สุนทรภู่เขียนบอกในนิราศเมืองเพชรบุรีว่า “เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช”)

“รามราช” น่าจะตรงกับชื่อ “ราเมศวรัม” เทวสถานตั้งอยู่เมืองปลายสุดของอินเดียใต้ ตรงที่มีแนวหินธรรมชาติเชื่อมอินเดียใต้กับศรีลังกา เรียก “ถนนพระราม” (ผู้แต่งรามเกียรติ์ผูกให้เป็นเรื่องหนุมานจองถนนให้พระรามข้ามไปเมืองลงกา เลยเรียกสืบมาว่าถนนพระราม มีด้วยในฉากพระอภัยมณี)

จดหมายเหตุเรื่องสมณทูตไปลังกาทวีป ครั้ง ร.2 เรียกเมืองราเมศวรัมว่า “เมืองรามอัศรม”

ชาวอุษาคเนย์น่าจะคุ้นเคยชื่อเมืองรามราช (หรือ ราเมศวรัม) ตั้งแต่ราวเรือน พ.ศ. 1000 เมื่อพ่อค้าจากรัฐทมิฬอินเดียใต้ไปมาค้าขายกับบ้านเมืองอุษาคเนย์

โล้ชิงช้า

พราหมณ์เมืองเพชรบุรีมีโล้ชิงช้า เป็นพราหมณ์รามราช เชื่อมโยงเครือญาติกลุ่มเดียวกับพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช และพราหมณ์หลวงอยุธยา

โล้ชิงช้าเป็นประเพณีของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ ในพิธีกรรมขอลมและแดดเพื่อบ่มเพาะพืชพันธุ์ทั้งปวงให้สุกเร็วๆ จะได้เก็บเกี่ยวไปกิน

พราหมณ์รามราชจากทมิฬอินเดียใต้ เข้าถึงสยาม (ผ่านเมืองมะริด เข้าช่องสิงขร) ทางเพชรบุรี หลังจากนั้นรับโล้ชิงช้าของคนพื้นเมืองเป็นประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์

โล้ชิงช้าจึงถือเป็นลักษณะเฉพาะของพราหมณ์สยาม เพราะไม่มีในอินเดีย รวมทั้งไม่มีในอาณาจักรขอมกัมพูชา และละโว้ (กัมโพช) (มีงานวิจัยสำคัญมากเรื่องนี้ของ อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ตลาดวังหลัง บริเวณบ้านปูนยุคกรุงธนบุรี (ภาพจาก www.duetdiary.com)2

พราหมณ์สมอพลือ ในราชสำนักอยุธยา

ตระกูลพราหมณ์สมอพลือ (เมืองเพชรบุรี) มีอำนาจในราชสำนักอยุธยาเมื่อหลัง พ.ศ. 2000 (ในความจริงน่าจะมีก่อนนานแล้ว)

พระเจ้าบรมโกศ (ครองอยุธยา พ.ศ. 2275-2301) มีมเหสี 2 พี่น้อง ที่มีมารดาเป็นเชื้อสายพราหมณ์บ้านสมอพลือ เมืองเพชรบุรี มีบอกไว้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา คือ

พระพันวสาใหญ่ (กรมหลวงอภัยนุชิต) มีโอรส คือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)

พระพันวสาน้อย (กรมหลวงพิพิธมนตรี) มีโอรส (เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา) คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ (พระเจ้าเอกทัศ) กับ เจ้าฟ้าอุทุมพร (พระเจ้าอุทุมพร)

เชื้อสายพราหมณ์จากบ้านสมอพลือ เมืองเพชรบุรี จำนวนไม่น้อยน่าจะติดตามไปรับราชการแล้วตั้งบ้านเรือนอยู่ในอยุธยา (รวมถึงตระกูลสายมารดาและบิดาของสุนทรภู่)

บ้านสมอพลือ อ. สมอพลือ อ. บ้านลาด จ. เพชรบุรี มีชุมชนพราหมณ์-พุทธ ตั้งแต่เรือน พ.ศ. 2000 มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน จึงถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะไหลผ่านบ้านตระกูลพราหมณ์ เป็นเหตุให้ราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ตักน้ำบริเวณนี้ไปใช้ในพระราชพิธี แล้วยังเป็นน้ำเสวยของ ร.4, ร.5, ร.6

บริเวณบ้านปูน ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ซ้าย) ย่านวัดระฆัง (ขวา) ย่านตลาดตรอกวังหลังต่อเนื่องศิริราช (ภาพถ่ายจากเครื่องบินเมื่อ พ.ศ. 2489 จากกรุงเทพ 2498-2538, กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2538)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image