กองปราบถกปปง.คดี”ซินแสโชกุน”ฉ้อโกงปชช. 42 แฟ้ม ครั้งสุดท้าย ก่อนชงอัยการฟ้อง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน ที่ กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พล.ต.อ.กวี สุภานันท์ ที่ปรึกษาสบ.10 พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืช รองผบช.ก. พร้อมเจ้าหน้าที่บก.ป. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ร่วมประชุมชุดสืบสวนคดี นางสาวพสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน เจ้าของบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ที่หลอกลวงประชาชนให้ร่วมซื้อสินค้า แล้วได้ผลตอบแทนเกินจริง เพื่อนำสำนวนคดี 42 แฟ้ม มาตรวจสอบเป็นครั้งสุดท้าย

สำหรับคดีดังกล่าวขณะนี้มีผู้เสียหายมาแจ้งความไว้จำนวน 757 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท ตำรวจได้สอบปากคำพยานทั้งหมด 175 คน สามารถตรวจยึดบัญชีเงินฝาก และการทำธุรกรรมทางการเงิน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 -เดือนเมษายน 2560 ซึ่งพบว่ามีเงินเข้าออกกว่า 200 ล้านบาท โดยวันนี้จะทำการเสนออัยการสั่งฟ้อง ซินแสโชกุน และพวกรวม 9 คน และบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด โดยมีซินแสโชกุนเป็นผู้อำนาจในฐานะนิติบุคคล ในข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ,ร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ,และซ่องโจร นอกจากนี้ ยังแจ้งข้อหาร่วมกันจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงอากร เพิ่มเติมกับบริษัทฯ และซินแสโชกุน ส่วนแม่ข่ายบางรายที่ได้รับเงินจากผู้เสียหาย ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานว่า แม่ข่ายกลุ่มนี้ได้ร่วมกระทำความผิด แต่ทางตำรวจจะขยายผลสอบสวนต่อไป

ขณะที่ พล.ต.อ.กวี กล่าวว่า อยากจะฝากประชาสัมพันธ์หากผู้เสียหายคนใดที่ยังไม่เข้าแจ้งความ ขอให้เข้าแจ้งความที่ตำรวจกองปราบปรามได้
เวลา 13.00 น. วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร2 ชั้น6อาคารสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเข้าพบ รองอธิบดีอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร เพื่อมอบสำนวนสำนวนคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชนที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนพยานหลักฐาน 4 ลัง พร้อมความเห็นสมควรฟ้อง บริษัท วลท์เอเวอร์ จำกัด โดย นางสาวพสิษฐ์ หรือซินแสโชกุน ผู้มีอำนาจในบริษัท ,นางสาวพสิษฐ์ กับพวกรวม 9 คนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ซ่องโจร, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 343 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 12 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) จากกรณีที่หลอกลวงให้ผู้เสียหาย 757 คนนำเงินมาลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อให้ได้สิทธิเดินทางไปต่างประเทศ เช่นหลอกว่าเดินทางไปที่ญี่ปุ่น มูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท

ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ภายหลังพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ส่งสำนวนคดีให้สำนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากรแล้ว ได้มอบหมายให้นายจิโรจน์ เอี่ยมโอภาส อัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 รับผิดชอบสั่งคดี โดยขณะนี้นายจิโรจน์ มีคำสั่งแต่งตั้งอัยการในสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 จำนวน 4 คน เป็นคณะทำงานแล้ว ส่วนการพิจารณาสำนวนเพื่อทำความเห็นสั่งคดีก็ต้องรอคณะทำงานสรุปเสนอนายจิโรจน์พิจารณาต่อไป โดยอัยการก็มีระยะเวลาพิจารณาในช่วงระยะเวลาการฝากขังครั้งสุดท้ายที่เหลือที่จะครบในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ต้องหาคดีนี้ทั้งหมดประกอบด้วย น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศหรือซินแสโชกุน อายุ 30 ปี กรรมการบริษัท ,น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 35 ปี หญิงคนสนิทของซินแสโชกุน , นางมณฑญาณ์ นิรันดร หรือ จันทร์ฉาย นาคฤทธิ์ อายุ 55 ปี มารดาซินแสโชกุน , นายก้องศรัณย์ แสงประภา อายุ 22 ปี ลูกพี่ลูกน้องของซินแสโชกุน , นางประนอม พลานุสนธิ์ อายุ 40 ปี เลขานุการของซินแสโชกุน , นางณิชมน แสงประภา อายุ 64 ปี ป้าของซินแสโชกุน และมารดาของนายก้องศรัณย์ , นางพารินธรญ์ หงส์หิรัญ ดัคกอร์ อายุ 35 ปี , น.ส.สุดารัตน์ อเนกนวล อายุ 25 ปี และนายโกวิท ช่วยสัตว์ อายุ 30 ปี

โดยผู้ต้องหาทั้งหมดปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image