นักวิชาการ โต้ รมว.คมนาคม ยัน กรุงเทพฯ-โคราช สร้าง3อย่างพร้อมกัน เสียหาย-ไม่คุ้ม

วันนี้ (23 มิ.ย.) ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ นักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวถึงกรณี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรงคมนาคม ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-โคราช แต่เป็นการเสริมกัน หรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน โดยผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ระบุว่า

“ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำชี้แจงดังกล่าว โครงการรถไฟไทย–จีน จากกรุงเทพไปโคราช มีความซ้ำซ้อนอย่างชัดเจนกับโครงการมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-โคราชที่รัฐบาลนี้เพิ่งอนุมัติให้สร้างไป และอย่าหลงประเด็นไปกับการแข่งขันกับสายการบิน ในบริบทของกรุงเทพ-โคราช การแข่งขันหลักจะอยู่ที่ถนนกับราง มันคือการแข่งขันของรูปแบบทางเลือกในการเดินทางตามทฤษฎี Mode Choices และผมอยากให้สังคมเข้าใจว่าการอนุมัติโครงการซ้ำซ้อนกันแบบนี้มันเสียหายมาก หากประเทศของเราร่ำรวยขนาดนั้น แบ่งเงินไปทำเส้นทางอื่นหรืออย่างอื่นเลย จะดีกว่ามาก”ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ระบุ

โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า “อธิบายทฤษฎีเป็นภาษาง่ายๆ คือ หากคุณจะเดินทางจากกรุงเทพไปโคราช คุณก็จะต้องพิจารณารูปแบบทางเลือกต่างๆ ว่ารูปแบบใดเหมาะสมกับคุณที่สุด คุณอาจเลือกที่จะขับรถไป (ใช้มอเตอร์เวย์) หรือนั่งรถไฟความเร็วสูงไป ดังนั้น มันคือการ “แข่งขัน” ของทางเลือก การส่งของก็เช่นกัน มันมีทางเลือก ประเด็นอยู่ที่การเพิ่มทางเลือกอย่างไม่สมเหตุสมผล คือจะทำทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไปพร้อมๆ กัน เพื่อตอบโจทย์เดียวกัน คือการขนคนหรือขนของระหว่างกรุงเทพ-โคราช มันไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นการเพิ่มความจุให้กับระบบจาก 1 เป็น 10 ไม่ใช่จาก 1 เป็น 2 (โดยใช้เงินภาษีของทุกคน) หากรัฐบาลเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพไปโคราช (แล้วจะต่อไปหนองคาย) ก็ไม่ควรสร้างมอเตอร์เวย์มาแข่งขันกันเอง (ซึ่งมอเตอร์เวย์ก็มีแผนแม่บทที่วางแผนไว้อย่างเป็นเอกเทศ ขาดการบูรณาการกับระบบราง ต่อไปถึงหนองคายเหมือนกัน) การทำแบบนี้จะทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงยิ่งลดลงไปอีกมาก ความคุ้มค่าลดลงกว่า “กรณีไม่มีมอเตอร์เวย์” อีกมากทั้งในทางการเงินและทางเศรษฐกิจ หรือในทางกลับกัน หากจะสร้างมอเตอร์เวย์ ก็ไม่มีความคุ้มค่าที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงขนานกันไป พร้อม ๆ กัน (รายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นนี้ หาอ่านได้จาก https://www.matichon.co.th/news/365654)

ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ระบุอีกว่า “อีกประเด็น ที่ท่านรัฐมนตรีชี้แจงว่า “ประเทศอื่นก็ทำแบบนี้” (ทำทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง) ผมขอยืนยันว่าไม่จริง ส่วนมากไม่ได้ทำแบบนี้ และส่วนน้อยที่ถูกกล่าวอ้าง แม้จะเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่เขาก็มีหลักการมากพอที่จะไม่ทำทุกอย่างพร้อมๆ กัน แต่ทำอย่างมีขั้นตอนก่อนหลัง อย่างในญี่ปุ่น ถนนเขาไม่ได้ขยายให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แบบในบ้านเราซึ่งทิ้งห่างจากระบบรางอย่างชัดเจน ทางธรรมดาเขาเล็กมากโดยรัฐสร้างให้ใช้ฟรี แล้วสร้างมอเตอร์เวย์มาเก็บเงิน (คนใช้เป็นคนจ่ายแทนที่ทุกคนจะต้องมาช่วยกันจ่ายด้วยเงินภาษี) และที่สำคัญเขาลงทุนไปกับระบบขนส่งสาธารณะทำให้มีคนใช้รถไฟธรรมดามากพอก่อน จึงค่อยคิดทำรถไฟความเร็วสูง หากผู้ถืออำนาจรัฐยังไม่เปลี่ยนแนวคิด ยังทำแบบนี้ (ทำทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไปพร้อมๆ กัน) ในเส้นทางอื่นๆ (ตามที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้) ประเทศไทยล้มละลายกันพอดี ปัญหาด้านอื่นไม่สำคัญหรือไม่ต้องใช้เงินหรือ?” ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image