มติทปสท.ร้องป.ป.ช.-สตง. ปมมหา’ลัยตั้งอธิการฯจากผู้เกษียณ รับเงิน2ทางทำรัฐเสียประโยชน์

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่า จากการประชุมทปสท.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติให้ยื่นฟ้องเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากหลังจากศาลปกครองสุงสุดได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองกลางที่ให้สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสานเพิกถอนคำสั่งสภาที่แต่งตั้งรักษาการอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการ โดยให้เหตุผลว่าผู้รักษาการอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการพลเรือนหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ทางทปสท.ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 นำเสนอประเด็นทางกฎหมายโดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีของมทร.อีสาน

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ทปสท.ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการศธ.อีกครั้งพร้อมแนบรายชื่อผู้ที่ได้รับเสนอรายชื่อเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีทั้งที่เป็นผู้เกษียณอายุราชการ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)เชียงใหม่ มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.เลย มรภ.สงขลา มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.นครสวรรค์และมรภ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้หนังสือทั้ง 2 ฉบับรัฐมนตรีว่าการศธ.ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ดำเนินการ แต่กลับมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และได้มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา 3 ราย คืออธิการบดีมรภ.อุตรดิตถ์ อธิการบดีมรภ.สงขลาและอธิการบดีมรภ.นครสวรรค์ ส่วนที่ยังไม่ได้รับการทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คือ มรภ.บุรีรัมย์เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาบังคับคดี

“สกอ.ทูลเกล้าฯ รายชื่อ โดยที่ส่อไม่เป็นไปตามกฎหมายเพราะศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษามาแล้วว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานมหาวิทยาลัย แต่สกอ.ยังนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่มีอำนาจในการยับยั้ง และเคยใช้อำนาจยับยั้งกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.)และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)มาแล้ว แต่พอมากรณีของการแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณฯ กลับไม่ยับยั้ง ถ้ายังปล่อยไปเช่นนี้ เชื่อว่าจะยังมีมหาวิทยาลัยที่เสนอรายชื่อผู้เกษียณฯ ไปยังสกอ. โดยถ้าไม่มีการฟ้องหรือร้องเรียน สกอ.ก็คงนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เรื่อยๆ และถ้าในกรณีที่มีการฟ้องร้องแล้วศาลตัดสินว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง ถามว่าใครจะรับผิดชอบความเสียหาย ฉะนั้นที่ประชุมทปสท.จึงมีมติให้ยื่นฟ้องต่อป.ป.ช.โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างคำฟ้อง คาดว่าจะยื่นฟ้องได้ต้นเดือนกรฎาคมนี้” นายรัฐกรณ์กล่าวและว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ยื่นฟ้องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เนื่องจากอธิการบดีที่มาจากผู้เกษียณฯ จะรับเงิน 2 ทาง คือ เมื่อเกษียณจะรับเงินบำเหน็จบำนาญและเมื่อมาเป็นอธิการบดี ก็รับเงินเดือนในฐานะลูกจ้างของมหาวิทยาลัยซึ่งน่าจะขัดพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งถ้าพบว่ามีความผิด ก็จะส่งผลกระทบไปยังตำแหน่งผู้บริหารอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย ที่แต่งตั้งมาจากผู้เกษียณฯ ด้วย ตลอดจนผู้เกษียณที่ไปนั่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐด้วย ที่มีการรับเงิน 2 ทาง ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่านอกจากจะส่อขัดกฎหมายแล้ว ยังทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ด้วย

“พ.ร.ฎ.การจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นที่จ่ายในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 กำหนดว่า การจ่ายบำเหน็จบำนาญกรณีเคยรับบำนาญแล้วกลับเข้ารับราชการใหม่ ระหว่างการรับราชการใหม่ต้องงดรับบำนาญ เมื่อพ้นจากรับราชการครั้งหลังจะรับบำนาญมี 2 กรณี คือ 1. เคยรับบำนาญเมื่อกลับเข้ารับราชการให้งดรับ เมื่อออกจากราชการถ้าเป็นคนละหน่วยงาน และมีสิทธิรับบำนาญ ให้รับจากหน่วยงานใหม่หรือหน่วยงานหลัง และ 2. ถ้าการรับราชการใหม่ไม่มีสิทธิ ให้กลับไปรับบำนาญจากหน่วยงานเดิม สรุประหว่างรับราชการอยู่ไม่มีสิทธิรับบำนาญ ยกเว้นส.ส. และส.ว.ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และพ.ศ.2560 ยกเว้นให้สามารถรับเงินเดือนส.ส. ส.ว.และบำนาญพร้อมกันได้” นายรัฐกรณ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image