2 ครูผู้ปลุกจิตสำนึกท้องถิ่น รางวัลครูยิ่งคุณ 2560

“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ตั้งขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจะมีการพระราชทานรางวัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2560

รางวัล “ครูยิ่งคุณ” โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในปีนี้ได้มอบให้ 2 ครูผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด

เกรียงศักดิ์ ฤกษ์งาม ครูผู้ผสมผสานวิชาวิทยาศาสตร์และเกษตรศาสตร์โดยใช้ป่าชายเลนทะเลบางขุนเทียนมาเป็นห้องเรียนรู้โลกกว้าง และ สมจิตต์ ตีบกลาง ครูผู้ใช้วิชาวิทยาศาสตร์สร้างโอกาสการเรียนรู้ พัฒนากระบวนการคิดผ่านการทำโครงงานเพื่อนำกลับไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

“การเรียนรู้ที่ได้ผล เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริงในสถานที่จริงหรือแหล่งเรียนรู้ที่ดี นี่คือวิธีการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องอ่านตำรา” ครูเกรียงศักดิ์ ฤกษ์งาม จากโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ใช้ป่าชายเลนชายทะเลบางขุนเทียนเป็นห้องเรียนให้เด็กๆ เรียนรู้มาตลอด 34 ปี

“ในยุคหนึ่งชายทะเลบางขุนเทียนเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสาหัส การแก้ไขปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นหลัก การเปลี่ยนความคิดของผู้ใหญ่คงทำได้ยาก จึงสอนให้เด็กๆ ที่ต้องสืบทอดอาชีพของครอบครัว ได้เรียนรู้หลักคิดสำคัญคือ ป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่ขาดไม่ได้”

Advertisement

ครูเกรียงศักดิ์ ในวัย 55 ปี ยังขยายแนวคิดการอนุรักษ์สู่ชุมชนรณรงค์ให้หยุดตัดไม้ริมป่าชายเลน, ทิ้งขยะลงทะเล, หยุดการเบื่อและชอร์ตปลา พร้อมชักชวนชุมชนทำแนวไม้ไผ่ลดแรงคลื่น ชะลอการกัดเซาะชายฝั่ง นำไปสู่การรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อก่อตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์ทะเลกรุงเทพฯ” และพัฒนายกระดับมีสมาชิกเป็นเครือข่ายตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนไม่น้อยกว่า 7 จังหวัด

“ป่าชายเลนที่เคยเสื่อมโทรมลงกลับมาอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพราะเด็กทุกคนช่วยกันทำสะพานยื่นลงไปในแนวป่าชายเลนและปลูกต้นโกงกาง เฝ้าสังเกตว่ารากของโกงกางช่วยกรองน้ำที่สกปรกให้สะอาดก่อนไหลกลับสู่ทะเล และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ นี่คือกระบวนการสอนที่เด็กๆ จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในถิ่นฐานของตนเอง พยายามรักษาให้คงอยู่”
ครูเกรียงศักดิ์ระบุ

การปลุกฝังจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดนั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิชาความรู้ในแขนงต่างๆ เช่นเดียวกันกับ ครูสมจิตต์ ตีบกลาง จากโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ สร้างกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นฐานคิด เพื่อให้การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สามารถตอบโจทย์ทั้งการเรียนรู้และสร้างประโยชน์ต่อชุมชน

“วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ในชีวิตของเราทุกๆ วัน การเรียนวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เด็กเห็นภาพได้ดีที่สุด ต้องนำความรู้ไปสู่ชีวิตประจำวัน”

Advertisement

เป็นแนวคิดของ “ครูสมจิตต์” มีจุดเริ่มต้นมาจากการนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้เสริมสร้างและพัฒนากระบวนการคิดผ่าน “โครงงานหุ่นยนต์” ส่งเข้าประกวด ให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้พบเจอโลกกว้างที่อยู่นอกเหนือห้องเรียน

“โรงเรียนของเราอยู่ไกล ไม่ได้มีโอกาสไปไหน แต่เห็นโอกาสพัฒนาเด็กโดยการออกไปแข่งขันทำหุ่นยนต์บังคับมือ อยากให้เด็กได้เรียนรู้ และก็รู้จักยอมรับ แพ้ได้แต่อยากให้เขาได้เรียนรู้อะไรที่มากกว่า และอยู่นอกเหนือไปจากในห้องเรียน”

จากการลองผิดลองถูกและเรียนรู้ไปร่วมกันกับเด็กๆ ในที่สุดผลงานหุ่นยนต์ของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนป่าพะยอมวิทยาคม ก็เริ่มคว้ารางวัลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากระดับพื้นที่ สู่ระดับประเทศ

“ครูสมจิตต์” ยังได้นำแนวคิดของการทำโครงงานไปเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและสภาพภูมิสังคมรอบโรงเรียน ใช้ “วิทยาศาสตร์” สร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และสามารถขยายผลไปสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนจนได้รับรางวัลจากองค์กรต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ หุ่นยนต์ตรวจวัดความชื้นยางแผ่นดิบ, เครื่องเก็บน้ำยาง เป็นต้น

“อยากให้สิ่งที่เด็กๆ ร่วมกันคิดนั้นกลับไปเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเกิดความรักในบ้านเกิด เพราะหลายๆ คนไม่เคยรู้เรื่องในท้องถิ่นของตัวเองเลย” ครูสมจิตต์กล่าว

แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นความสำเร็จ เริ่มต้นการทำ “โครงการรักษ์น้ำรักคลองตลิ่งชัน” เพื่อแก้ปัญหามีน้ำในฤดูแล้งไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยได้มีการทำฝายชะลอน้ำ การปลูกต้นไม้เพื่อชะลอความชุ่มชื้น จนมาถึง “โครงการรักษ์น้ำคลองป่าพะยอม” และ “โครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ” เกิดการรวมกลุ่มดูแลทรัพยากรของชุมชนที่เข้มแข็ง จนทำให้ได้รับการประกาศจาก “มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ” ว่าเป็นชุมชนที่มีการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนที่ประสบผลสำเร็จและเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

ความทุ่มเทในการบูรณาการเรียนรู้ควบคู่กับการปลุกจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดของ “ครูเกรียงศักดิ์ ฤกษ์งาม” และ “ครูสมจิตต์ ตีบกลาง” เป็นต้นแบบของ “ครู” นักพัฒนา ที่นอกจากจะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับลูกศิษย์แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image