คอลัมน์ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร เด็กไม่เอาถ่าน ชื่อ‘เชอร์ชิลล์’

วินสตัน เชอร์ชิลล์ เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1874 ในครอบครัวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดครอบครัวหนึ่งในอังกฤษ คุณปู่ของเขาเป็นดยุคแห่งมาร์โบโรห์ (Duke of Marlborough) มารดาของเขาคือ หญิงสาวสวยชาวอเมริกันชื่อ เจนนี่ เจอร์โรม (Jennie Jerome) ขณะที่เป็นเด็กเขาอยู่ในความดูแลของพี่เลี้ยงชื่อ “มิสซิส เอเวอร์เรส” ซึ่งเขารักมาก วินสตันไม่ชอบไปโรงเรียนและไม่เคยพยายามที่จะเรียนวิชาที่เขาไม่ชอบ ที่แฮร์ไรว์ เขาเรียนจบชั้นเรียน ในแต่ละปีโดยการเป็นที่โหล่ของชั้น รั้งบ๊วยตลอด จนได้ชื่อประมาณว่า “เด็กไม่เอาถ่าน” แต่เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตราบใดที่เขาได้รับอนุญาตให้เลือกหนังสือเอง เขาจะจดจำไว้ได้มากมายโดย “การท่องจำ”

บิดาของเขาเห็นว่า “วินสตัน” เรียนภาษาละตินไม่มากพอที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ดังนั้น บิดาของเขาจึงขอร้อง ถ้าเขาอยากเป็นทหาร “วินสตัน” ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ แต่เขาต้องเรียนอย่างหนัก เพื่อที่จะสอบเข้าแซนด์เฮิร์ท (Sand hurt) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดนายทหาร เขาต้องใช้เวลาในการสอบเข้าถึง 3 ปี ก่อนที่จะสอบผ่านได้ เขาชอบ
แซนด์เฮิร์ทมาก เพราะสนใจในวิชาการทหาร เขาเรียนอย่างหนักจนสอบได้เป็นอันดับที่ 8 ในชั้นเรียน ที่มีนักเรียนถึง 150 คน สนใจในวิชาการเมืองด้วย แต่บิดาของเขาคือ “ลอร์ด-แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์” ถึงแก่กรรมไปเสียก่อนที่ลูกชายของเขาจะได้เรียนรู้ถึงชีวิตนักการเมืองจากเขามากพอ บิดาของเขาเป็นนักการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ส่วนมารดาของเขา คือ เจนนี่ จีโรม เป็นนักสังคมสงเคราะห์ชาวอเมริกัน

ใช้เวลาไม่นานเขาก็เรียนจบเป็นนายทหาร เชอร์ชิลล์ลองใช้เวลาตรึกตรอง เพื่อที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการรบในสงคราม สำหรับเขาแล้วกิจกรรมการสู้รบ และการเขียนรายงาน จะต้องคู่กันไปเสมอ ครั้งแรกเขาเขียนเกี่ยวกับสงครามในคิวบา แต่ยังไม่พอใจนัก จนเมื่อมีโอกาสเดินทางไปอินเดีย ในขณะเกิดสงคราม เขาจึงทำหน้าที่เขียนข่าวส่งหนังสือพิมพ์ แม้ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเป็นผู้รายงานข่าวเองก็ตาม หนังสือเขาขายดี แต่กองทัพอังกฤษไม่ยินดีด้วยนัก เมื่อนายทหารหนุ่มคนนี้กล่าวว่า วิธีการรบของพวกเขานั้นเป็นวิธีที่ผิด

สงครามครั้งต่อมาที่เขามีโอกาสเข้าร่วมด้วยก็คือ สงครามใน “ซูดาน” วินสตันร่วมรบด้วยความกล้าหาญในการสู้รบที่ อุมเดอร์แมน (Om durman) ซึ่งจากนั้นเขาก็ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือของตนเองชื่อ “สงครามแม่น้ำ (The River War)” เมื่อกลับถึงกรุงลอนดอน เขาจึงหันเหไปสู่วงการเมือง แต่ในตอนแรกเขาไม่ได้รับที่นั่งในสภาปาเลียเมนต์ ต่อมาสงครามโบเออร์ (Boer war) ก็อุบัติขึ้น วินสตันในวัย 24 ปี ก็ได้ส่งข้อเสนอให้ทำงานเป็น “นักข่าว” ของหนังสือพิมพ์มอร์นิ่งโพสต์ (Morning Post) อย่างไรก็ตาม เกือบจะทันทีเขาเดินทางถึงแอฟริกาใต้ เขาก็ถูกจับเป็นนักโทษโดยชาวโบเออร์ ในนาทีแรกที่มีโอกาส เขาก็หลบหนี โดยการซ่อนตัวอยู่บนขบวนรถไฟสายต่างๆ ซึ่งนำเขาไปสู่ความปลอดภัย

Advertisement

หลังจากเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นหลายครั้ง เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะทุกๆ คนในลอนดอนได้รับรู้ถึงเรื่องนี้

ในเวลาต่อมาที่เขาเพียรพยายามที่หาทางเข้าไปนั่งในสภาปาเลียเมนต์ ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้รับชัยชนะในจังหวะเดียวกับที่เขาเคยพ่ายแพ้มาแล้วนั่นเอง เพียง 4 วัน หลังจากที่เขาได้เข้าร่วมอยู่ในสภาปาเลียเมนต์ เชอร์ชิลล์
ก็ได้กล่าวสุนทรพจน์พิเศษครั้งแรก เขาจะพูดตามที่เขาคิดเสมอ ซึ่งพรรคอนุรักษนิยม (Conservative) ที่เขาสังกัดอยู่ไม่สามารถจะควบคุมเขาได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคอนุรักษนิยมลุกขึ้น และเดินออกไปจากสภาทันทีเมื่อเชอร์ชิลล์ลุกขึ้นพูด ไม่นานเชอร์ชิลลล์ก็ย้ายเปลี่ยนมาสังกัดพรรคลิเบอรัล

พรรคลิเบอรัลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อมา และเชอร์ชิลล์ก็ได้นั่งตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาล ไม่ว่าจะในด้านอาณานิคม การค้าขาย หรือหน้าที่การงาน เขาจะขยันขันแข็งและมองการณ์ไกลเสมอ แต่สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดที่เขาได้ทำขณะดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชากาทหารเรือ” ก็คือ การตระเตรียมการรบล่วงหน้ากับเยอรมนี ซึ่งเขามั่นใจว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ไม่นานเชอร์ชิลล์ก็แสดงให้เห็นว่า… “เขาเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำอย่างแท้จริง” (Born to Be…) ในสงครามในปี 1914-1918 เขาวางแผนการรบไม่เฉพาะแต่กองทัพเรือเท่านั้น แต่เพื่อกองทัพด้วย จนนายทหาร ซึ่งมีอาวุโสกว่าหลายนายไม่พอใจ เขาถูกตำหนิเมื่อการรบของทหารอังกฤษในแกลลีโพลี(Galipoli) ประสบความพ่ายแพ้ เชอร์วิลล์ถึงลาออกจากคณะรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นถึงสปิริตของเขา จากนั้นเขาก็ร่วมในกองทัพ และเป็นนายทหารประจำการอยู่ในฝรั่งเศสอยู่ 6 เดือน

Advertisement

ต่อมาในปี ค.ศ.1917 เขาถูกเรียกตัวให้กลับไปเข้าร่วมคณะรัฐบาลอีกครั้ง คราวนี้เขารับตำแหน่ง “รัฐมนตรีคลังอาวุธ” ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายในเวลาสงครามของเขา หน้าที่อย่างแรกของเขาคือ การไปพบปะกับเหล่าทหารที่กลับมาจากการรบและถูกส่งกลับบ้าน อย่างที่สองก็คือ การไปทำสัญญาสงบศึกกับอาหรับในตะวันออกกลาง

ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1922 เชอร์ชิลล์ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภา ดังนั้น ในวัย 47 ปี เขาก็รู้ตัวว่าไม่ได้รับตำแหน่งอะไรเลย แต่เขาก็ไม่เคยนิ่งเฉย เขาเริ่มต้นเขียนภาพเป็นงานอดิเรก แล้วก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เขาชอบมาก นอกจากนั้น เขาก็หวนกลับไปเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกครั้ง เช่นเรื่องเกี่ยวกับสงครามในปี ค.ศ.1914-1918 ในด้านความฝึกคิดทางการเมือง เขาเริ่มมีส่วนในพรรคของเขาคือ พรรคอนุรักษนิยมที่จะช่วย เมื่อพรรคนี้ชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1924 เชอร์ชิลล์ก็ได้ดำรงตำแหน่ง “อธิบดีคลัง” กล่าวได้ว่า เขาได้รับตำแหน่งสูงที่สุดเป็นอันดับสองในคณะรัฐบาล

ในทันทีเขาก็เริ่มประสบกับความยุ่งยาก คนงานเหมืองถ่านหินของอังกฤษพากันสไตรก์และพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากคนงาน อื่นๆ ไม่นานก็เป็นการสไตร์กทั่วไป เชอร์ชิลล์ทำให้ความนิยมในตัวของเขาลดน้อยลงไป ด้วยวิธีการที่เขาใช้จัดการกับคนงานสไตรก์เหล่านั้น และก็เป็นอีกครั้งหนึ่งในตัวของเขาในพรรคก็พลอยเสื่อมลงไปอีกด้วย เหตุผลต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะว่าพรรคอนุรักษนิยมได้ตกลงใจที่จะให้อินเดียได้รับเอกราช ซึ่ง
เชอร์ชิลล์ไม่เห็นด้วย ทุกๆ สิ่งที่เขาทำโดยเปิดเผยตลอดชีวิตของเขา ดูจะเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความนิยมชมชอบ และความเสื่อมนิยมไปพร้อมๆ กัน แต่เขาก็ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนท่าที ไม่ว่ากรณีใดๆ เขาคิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้น “ถูกต้อง”

ในปีที่ฮิตเลอร์นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามอีกครั้งหนึ่งนั้น เชอร์ชิลล์ก็ปลดจากราชการในฐานะผู้นำทางการเมือง คำเตือนของเขาที่ว่า… สงครามจะเกิดขึ้น วันนั้นไม่มีใครรับฟัง หลังจากออกจากราชการแล้ว เขาก็ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่าๆ เขากลับไปเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ วาดภาพ และก่อกำแพงภายในสวนที่บ้านของเขา บางคนอาจจะคิดว่าชาววัย 60 ปีคนนี้ คงไม่มีอนาคตอีกแล้ว

แต่นโยบายของนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ แชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain) ซึ่งไม่อาจเอาชนะความทะเยอทะยานของฮิตเลอร์ได้ และในเดือนกันยายนปี 1931 อังกฤษได้เข้าสู่สงคราม วินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้รับข้อเสนอให้เข้ารับงานเก่าของเขาก็คือ… “ผู้บัญชาการกองทัพเรือ” ทันที ซึ่งเขาก็ได้เริ่มทำในสิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นผู้นำของอังกฤษในระหว่างสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวถึงนี้ ยังไม่อุบัติขึ้น จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม 1940 ซึ่งเชอร์ชิลล์กลายเป็น… “นายกรัฐมนตรี” สุนทรพจน์ครั้งแรกของเขาบรรจุไปด้วยถ้อยคำที่ประชาชนชาวอังกฤษรอคอยที่จะได้ยินถ้อยคำที่ทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่าได้นำพวกเขาไปสู่การเป็นผู้นำที่ดีที่สุดความว่า… “ข้าพเจ้าไม่มีสิ่งใดที่จะเสนอนอกจากเลือด การบากบั่นทำงาน น้ำตาและหยาดเหงื่อ”

อังกฤษเองขณะนั้นอยู่ในฐานะที่ลำบาก ฮอลแลนด์ เบลเยียม ประสบความพ่ายแพ้ รวมทั้งฝรั่งเศสก็ใกล้ที่พ่ายแพ้ด้วยเช่นกัน กองทหารอังกฤษเกือบจะทั้งหมดส่งกลับ
จากดันเคิร์ก (Dunkirk) ด้วยเรือลำเล็กๆ ตอนนี้อังกฤษต้องเผชิญหน้ากับเยอรมนีโดยลำพัง เชอร์ชิลล์ได้หยิบยกคำพูดซึ่งประชาชนมีความรู้สึกตามไปด้วยว่า… “เราจะต่อสู้ทั้งในฝรั่งเศส ในทะเลและมหาสมุทร เราจะต้องสู้ด้วยความเชื่อมั่นที่งอกเงยขึ้นทุกขณะ เราจะต่อสู้ทั้งชายหาด บนบก สนามรบหรือบนถนน เราจะต่อสู้แม้บนภูเขา และเราจะไม่มีวันแพ้”

นับเป็นความพยายามอย่างหนักที่สุด ผู้คนทั้งชายและหญิงจำนวนนับพันถูกส่งเข้าทำงานในโรงงานเพื่อผลิตอาวุธปืนและเครื่องบินรบซึ่งประเทศชาติต้องการ เยอรมนีเริ่มทิ้งระเบิดท่าเรือของอังกฤษโดยเฉพาะกรุงลอนดอนทั้งกลางวันและกลางคืน เครื่องบินรบของกองทัพอังกฤษที่มีชื่อเสียง คือ สปริทไฟร์ (Spitfires) และเฮอร์ริเคน (Herricanes) ถูกขึ้นต่อสู้ในอากาศ เยอรมนีเริ่มสูญเสียการรบครั้งใหญ่แก่กองทัพอังกฤษ

ในปีที่ถูกทิ้งระเบิด ประชาชนชาวอังกฤษได้รับรู้และยกย่องชมเชย “วินสตัน เชอร์ชิลล์” ในวิธีการที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน วินสตันไม่เพียงแต่ใช้การคำนวณที่ฝึกไปกว่าเดิมในการปฏิบัติงานทั้งการวางแผนและควบคุมเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าเขาจะปรากฏตัวในทันทีที่เสียงสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น เขามักจะใช้เวลาที่เหลือในการเดินไปตามถนน เพื่อตรวจดูอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และมักจะนำสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงของเขา คือ… “ชูนิ้วเป็นตัววี” ซึ่งหมายถึง “ชัยชนะ (Victory)” พลังในตัวของเชอร์ชิลล์จะมีมากมายสำหรับใช้ในการทำงานของเขา พวกทหารไม่เคยมีชีวิตที่ได้หยุดพัก การรับฟังคำสั่ง คำเตือน ความโกรธ ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยขาดตอนของเขา ซึ่งเขามักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ แต่ตอนนี้สงครามได้กินวงกว้างเกือบจะทั่วโลกและพลังในตัวเขาเป็นที่ต้องการ

เชอร์ชิลล์เดินทางไปอเมริกา แคนาดา มอสโก อียิปต์ และแอฟริกาเหนือ ซึ่งเขาเดินทางไปบ่อยที่สุด และเป็นสถานที่ได้รับชัยชนะในการสู้รบกับเยอรมนีเป็นยุคแรก เชอร์ชิลล์เป็นเพื่อนกับประธานาธิบดีรูสเวลล์ ซึ่งทั้งสองคงได้ร่วมกันวางแผนจะยุติสงคราม แผนก้าวแรก…คือการเข้าร่วมกับสหประชาชาติ ซึ่งสหประชาชาติได้ให้ความช่วยเหลืออังกฤษหลายอย่างตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมสงครามกันเสียอีก หลังจากนั้น ต่อมาการต่อสู้และการวางแผนทุกครั้งก็ถูกกระทำพร้อมๆ ร่วมๆ กัน เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งในปี 1944 ซึ่งกองทหารอังกฤษ อเมริกา และแคนาดา ยกพลขึ้นบกที่ฝรั่งเศส และก่อนที่เชอร์ชิลล์จะได้รับความยุ่งยากจากทั้ง “สตาลิน” ผู้นำของ…รัสเซีย ซึ่งต้องการที่จะให้เยอรมนีเข้าโจมตีจากทางตะวันตกมากที่สุดโดยเร็วที่สุด และจากสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเริ่มจะคิดว่าผู้นำที่มีอายุน้อยว่าเขาอาจจะนำชัยชนะมาให้พวกเขาได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนชาวอังกฤษ เชอร์ชิลล์ก็ยังเป็นคนที่จะนำเขาไปสู่ชัยชนะในบั้นปลาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อการต่อสู้ยุติลงและสงครามได้สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 1945 เชอร์ชิลล์รู้ดีว่า การเมืองจะมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในชีวิตประจำวันของประชาชนอีกครั้ง เขารู้ว่าประชาชนอาจจะต้องเลือกรัฐบาลจากพรรคต่างๆ ซึ่งจะนำประเทศเข้าสู่ภาวะสันติ พลังที่เฉียบแหลมในภาวการณ์เบื้องหน้าอาจไม่ได้เป็นของเขาอีกต่อไป ความรอบรู้ต่อผู้คนและประเทศชาติ ซึ่งเขาเคยได้รับชัยชนะมาแล้ว อาจจะต้องสูญเสียไป และสิ่งเหล่านี้ก็ได้เกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม ปี 1945 พรรคเลเบอร์ได้รับคะแนนเสียงเข้ามามีอำนาจเป็นคณะรัฐบาล และ
เชอร์ชิลล์ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เขาหันไปสู่งานเขียนอีกครั้ง ในระหว่างปี 1948 และ 1954 เขาเขียนประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 2

ในปี 1951 พรรคอนุรักษนิยมกลับมามีอำนาจอีก และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ในวัย 77 ปีก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในปี1953 เขาได้รับ “รางวัลโนเบล (Nobel Prize)”ในสาขาวรรณคดีและได้รับเกียรติยศเป็น…เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ “Sir Winston Leonard Spencer-Churchill” ในปีนั้นในที่สุดในปี 1955 ในวัย 81 ปี เขาก็ลาออกจากราชการและถึงแก่กรรมในวันที่ 24 มกราคม 1965 โดยมีภรรยาของเขา…คลีเมนไทน์ (Clementine) ซึ่งคอยช่วยเหลือให้กำลังใจเขา และทำทุกอย่างในฐานะภรรยา เพื่อความสุขของเขายามอยู่บ้านในบั้นปลายชีวิต

ท้ายสุดนี้ผู้เขียน และหลายๆ ท่านที่เป็นแฟนมติชน เชื่อกันว่าวีรบุรุษหลายต่อหลายคนในโลกสามารถก้าวมาเป็น “ผู้นำโลก” ได้ล้วนแต่จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถและพรสวรรค์พิเศษ แต่ก็มีบางคนที่ก้าวมาเป็นผู้นำแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ ดังเช่น “เด็กไม่เอาถ่าน” กรณีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ขอฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนหนังสือในวัยเด็กที่เรียนไม่เก่ง ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร ขอให้เรามองหาว่าบุตรหลานเรามีความสามารถพิเศษอะไร หรือสนใจ ชอบอะไร ก็สนับสนุนให้เต็มที่ เพื่อให้เขาพัฒนาตนเองจนกลายมาเป็น “อัจฉริยะ” ทำให้ได้ดีในอนาคต อย่างกรณีนี้เพราะเขาชอบ “สนามรบ” ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้สู้กับเยอรมนีจนได้รับชัยชนะ ส่งให้เขากลายเป็นผู้นำของโลก จาก “เด็กไม่เอาถ่าน” มาสู่ “มหาบุรุษโลก วินสตัน เชอร์ชิลล์” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image