คมนาคม เลื่อนชงไฮสปีดไทย-จีนเข้าครม.เป็นก.ค. “อาคม”ยันไม่กระทบแผนก่อสร้าง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน กระทรวงเตรียมเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสศช.) เห็นชอบโครงการ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือว่าล่าช้าจากแผนเดิมที่ต้องเสนอเข้าครม.ในเดือนมิถุนายน แต่ยืนยันแผนการประกวดราคาจะยังไปตามเป้าหมายเดิม คือเดือนกรกฎาคม และเริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม

ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งบางประเด็นมีความผิดพลาดอาจนำมาสู่ความเข้าใจที่คาดเคลื่อน นั้น กระทรวงขอเรียนว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ถือเป็นโครงการที่มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ในแต่ละครั้งกระทรวงได้ยึดหลักการเจรจา 5 ข้อ คือ 1. พื้นที่ 2 ข้างทางรถไฟเป็นของไทย ไม่มีการยกให้จีน  2.สิทธิในการพัฒนาสถานีรถไฟเป็นของไทย 3.การก่อสร้างเป็นผู้รับเหมาไทยทั้งหมด 4.การใช้วัสดุก่อสร้างใช้จากในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งวัสดุก่อสร้างของไทยมีความพร้อมและขีดความสามารถเกือบ 100%  5.ไม่มีการนำเข้าแรงงานจากจีน เหมือนบางประเทศ แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับแรงงานระดับฝีมือ อาทิ วิศวกรและสถาปนิก รวมถึงการเปิดเดินรถในวันแรก พนักงานขับรถต้องเป็นคนไทยเท่านั้น

สำหรับประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขอยืนยันว่าเรื่องนี้เป็น1 ในเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ไม่ได้ละเลย มีการพูดคุยตั้งแต่การประชุมครั้งแรก และในร่างสัญญาก็ระบุไว้อย่างชัดเจน ทั้งเทคนิคการก่อสร้างเทคนิคการเดินรถ รวมถึงการฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน (โอเจที) โดยให้บุคลากรไทยประกบเจ้าหน้าที่จีน เพื่อเรียนรู้วิธีการออกแบบ วิธีคุมงาน วิธีขับรถ และบำรุงรักษา ตอนนี้ได้ส่งบุคลากรจากไทยไปแล้วกว่า 250 คน

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการ กระทรวงฯได้มอบหมายให้รฟท.ตรวจสอบคู่ขนานทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จีนเป็นผู้ศึกษา รฟท.ได้มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบ รวมไปถึงขั้นของการออกแบบ ก่อสร้าง ก็จะมีวิศวกรของไทยตรวจการตรวจสอบทุกขั้นตอน

Advertisement

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสนข. กล่าวว่า เบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน น่าจะมีการเวรคืนที่ดินประมาณ 10– 20 % ซึ่งตามแผนของโครงการส่วนใหญ่ และจะไม่กระทบกับประชาชนมากเท่าใด บางส่วนจะขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image