อ.วิศวะ จุฬาฯ โวย ถูกกระทรวงคมนาคม อ้างชื่อส่งไปฝึกอบรมไฮสปีดที่จีนแล้ว

วันที่ 23 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวมติชนได้รับข้อความ จาก ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อ.คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล่ารายละเอียดการไปสัมมนาที่ประเทศจีน เรียนรู้เรื่องระบบราง โดยตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นการสัมมนา ที่อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ บางครั้งเป็นการบรรยายแบบฆ่าเวลา และพาท่องเที่ยว แต่กลับมีข่าวว่า ทางกระทรวงคมนาคมของไทย นับการสัมมนาดังกล่าว ว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีจากจีน สู่ไทย พร้อมเตือนว่า ไม่เห็นด้วยหากกระทรวงคมนาคม จะใช้โอกาสนี้ มั่วนิ่ม ใช้เป็นข้ออ้างดังกล่าว หากเป็นจริง ขอใช้สิทธิ์คนไทย ไม่ไว้วางใจ กระทรวงคมนาคม มีรายละเอียดดังนี้

“18.00 น.เศษ ที่ห้องอาหารของโรงแรมที่พักภายในรั้วของมหาวิทยาลัยการคมนาคมแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Jiaotong University) ประเทศจีน ภายหลังจากเสร็จสิ้นการฟังบรรยายเรื่อง Technology of Railway Operations Management ซึ่งผู้เขียนและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งบุคคลากรฝ่ายปฏิบัติการจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง รวมจำนวน 25 คน กำลังรับประทานอาหารร่วมกัน”

ผศ.ดร.ประมวล เล่าอีกว่า “สมาชิกทั้งหมดได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข) ผ่านกระบวนการคัดเลือกซึ่งประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อราวเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ให้มาร่วมกิจกรรมสัมมนา “2017 Seminar on Railways for Thai Lecturers” นัยว่าเพื่อให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศจีน โดยผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดมาจากหลากหลายสาขา หลากหลายความชำนาญ บ้างก็มีพื้นฐานทางวิศวกรรม บ้างก็ไม่มี”

และว่า “ในความเข้าใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดเชื่อว่า กิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้รัฐบาลจีนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นการรับรู้ให้กับฝ่ายไทย รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเทคโนโลยีระบบรางของจีน ไม่ได้มุ่งเน้นทักษะความชำนาญทางเทคนิค และเท่าที่ทราบการสัมมนาในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันมาแล้วหลายครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กันไป ในรอบที่ผู้เขียนเข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เน้นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยไทย” ผศ.ดร.ประมวล กล่าว

Advertisement

โดยระบุอีกว่า “กิจกรรมเริ่มต้นกันตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดการสัมมนา 21 วัน แต่ละวันมีทั้งฟังบรรยาย (ซึ่งก็รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เนื่องจากมีรายละเอียดไม่เฉพาะเพียงเชิงยุทธศาสตร์ แต่บางหัวข้อก็มีเนื้อหาไปที่กระบวนการทำงานในภาคสนาม วิทยากรบ้างท่านก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ (ใช้ล่ามในการบรรยาย) บ้างท่านก็เหมือนจะบรรยายให้หมดๆ เวลาไปโดยไม่มีทักษะการสอนในระดับนานาชาติ แต่บางท่านก็ถ่ายทอดมุมมองทางวิชาการได้อย่างน่าสนใจครับ) บางวันก็มีกิจกรรมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ (ซึ่งก็มีทั้งห้องปฏิบัติการที่ตั้งใจอธิบายรายละเอียด และห้องปฏิบัติการที่ดูเหมือนเอาเด็กเฝ้าแล็บที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องมาพาไปชมกิจกรรมแบบผ่านๆ) และบางวันเมื่อฝนตก ทำอะไรไม่ได้ ก็พาพวกเราไปนั่งรถชมเมืองปักกิ่ง”ผศ.ดร.ประมวล ระบุ

ผศ.ดร.ประมวล ระบุว่า “เรื่องสนุกที่พวกเราทั้ง 25 คน พูดคุยกันอยู่บ่อยๆ ในระหว่างที่กระแสความต้องการให้มีการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟฟ้าความเร็วสูงจากประเทศจีนสู่ประเทศไทย คือ รัฐบาลจะนับกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีไหม หากคำตอบคือ “ใช่” นี่ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งปาหี่ระดับชาติที่หลอกลวงประชาชน และสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารประเทศในขณะนี้ไม่มีความเข้าใจในเรื่องกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่มียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ทั้งไม่น่าจะได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทแบบนี้”

และว่า “อย่างไรก็ดี พลันที่ผู้เขียนเห็นข้อความที่ส่งเข้ามาใน Line กลุ่มมิตรสหายที่สนใจปัญหาเรื่องระบบขนส่งทางรางร่วมกัน มีเนื้อหาว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร แถลงข่าวชี้แจงการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม เนื้อความยาวยืด ที่สะดุดตาที่สุดก็อยู่ในข้อที่ 6. ซึ่งกล่าวถึงกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งผู้เขียนตลอดจนเหล่าผู้ร่วมอาชีพวิศวกรในประเทศไทยกำลังให้ความสนใจ ว่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ในครั้งนี้กำลังมีโอกาสอย่างสูงที่ไทยจะได้รับเทคโนโลยีการผลิตจากจีน”

Advertisement

ผศ.ดร.ประมวล กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อความในแถลงข่าวส่วนนั้นมีอยู่ว่า “การถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเทศไทยได้จัดส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่จีนแล้ว จำนวน 250 คน และในเดือนมิถุนายน 2560 ได้จัดส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 25 คน เข้ารับการฝึกอบรมที่จีน เป็นข้อความส่วนที่เรียกเสียงฮาจากบรรดาสมาชิกอาจารย์ผู้ร่วมโต๊ะสนั่นหวั่นไหว จนชาวจีนอื่นๆ ในห้องอาหารพร้อมใจกันหันขวับมามองว่าโต๊ะกลุ่มคนไทยกำลังสนุกอะไรกัน”

ผศ.ดร.ประมวล เผยอีกว่า “ผู้เขียนมีโอกาสแสดงความเห็นเรื่อง “กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี” มาหลายปี ทั้งการบรรยาย การจัดสัมมนา การเชิญผู้แทนประเทศต่างๆ มาบรรยาย รวมทั้งเคยมีโอกาสเขียนบทความหลายเรื่อง ว่าด้วยแนวทางการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่นานาประเทศกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ “ของแถม” โดยมีการวางระบบไว้อย่างรัดกุมเพื่อเป้าหมายคล้ายกัน คือ ยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ โดยอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าใช้เงินภาษีของราษฎรทั้งประเทศ อาทิ ประเทศจีนที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จนสามารถพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นของตัวเองได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ทศวรรษ และมีเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงในปัจจุบันเกือบ 2 หมื่นกิโลเมตร ประเทศเกาหลีใต้ที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส จนกลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีอันดับ 4 ของโลก และประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียที่อาศัยการกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อผ่านโปรแกรม “ICP – Industrial Collaboration Program” โดยความดูแลของหน่วยงานเฉพาะกิจ “TDA – Technology Depository Agency” ซึ่งอยู่ใต้กระทรวงการคลัง จนทำให้เกิดอุตสาหกรรมประกอบและผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหลายบริษัท แน่นอนว่า เมื่อประเทศไทยกำลังจะลงทุนในระดับแสนล้านบาทกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน หรือแม้แต่ ไทย-ญี่ปุ่น การพัฒนาโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมียุทธศาสตร์ จะทำให้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวกระโดดไปสู่ยุคสมัยของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการเทคโนโลยีและทักษะการผลิตในขั้นสูง”

ผศ.ดร.ประมวล กล่าวทิ้งท้ายว่า “แต่หากกระทรวงคมนาคมจะเพียงอาศัยจังหวะนี้ “มั่วนิ่ม” โดยอ้างว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูง ผู้เขียนก็คงจะขอลุกขึ้นยืน ใช้สิทธิ์ของความเป็นประชาชนคนไทย และเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่ต้องรับผิดชอบถ่ายทอดความรู้ให้กับอนุชนรุ่นใหม่ๆ ว่า “ไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคม” ครับ”

ทั้งนี้ได้มีการแจกเอกสารข้อมูลประกอบการแถลงข่าวในวันนี้  ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า ได้ส่ง ผศ.ดร.ประมวล ที่ให้ข้อเสนอแนะ พร้อมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆจำนวน 25 คน ไปด้วยในครั้งนี้ โดยอยู่ระหว่างการฝึกอบรมที่ประเทศจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image