วงเสวนา 85 ปี 24 มิ.ย. นักวิชาการชี้แม้ไร้คณะราษฎร ไทยก็ต้องเป็น’ปชต.’ จากกระแสโลกตะวันตก

วงเสวนา 85 ปี 24 มิ.ย.นักวิชาการย้ำถึงไม่มีคณะราษฎร ไทยก็ต้องเป็น’ปชต.’ ตามลมการเปลี่ยนแปลงจากตะวันตกพัดสู่ชนชั้นกลาง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดโครงการรัฐศาสตร์เสวนา 85 ปี 24 มิถุนายน 2475 ในหัวข้อ “การเมืองประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง” ตอน การเมืองในชีวิตประจำวัน (politics of everyday life) โดยมี นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์และธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ น.ส.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นางกุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและการเมือง และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ นายณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

น.ส.กนกรัตน์ กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเวลา 85 ปี ซึ่งเป็นระยะเดียวกับไทยในปัจจุบัน พบว่า ขณะนั้นฝรั่งเศสติดอยู่ในวงจรของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นและมุ่งทำลายให้อีกฝ่ายหายไปจากสังคม ฝรั่งเศสต้องใช้เวลาถึง 179 ปีจึงจะสามารถปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว คือฝ่ายอนุรักษณ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาตลอดยอมรับการอยู่ในอำนาจร่วมกัน แม้มีความเห็นต่างกัน และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจต่อไปในอนาคต สรุปว่าเนื่องจากพัฒนาการของประชาธิปไตยไม่ได้ดำเนินไปอย่างเส้นตรง กลไกที่จะนำไปสู่การดำรงสังคมประชาธิปไตย คือ ยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มต่างๆในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ไทยในขณะนี้พึ่งเดินมาได้ครึ่งทาง ยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของสองขั้ว เป็นเพียงศตวรรษที่ 19 ของฝรั่งเศสเท่านั้น ประเทศไทยจึงยังไม่หมดหวัง การได้มาซึ่งประชาธิปไตยคือการต่อสู้ตลอดชีวิต และการจำกัดผู้เห็นต่างไม่มีทางทำได้ตลอดไป

Advertisement

นายธเนศ กล่าวว่า การเมืองไทยมีวิวัฒนาการเป็นวัฎจักรแบบวงกลม แตกต่างจากประเทศแถบตะวันตกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พัฒนาการแบบเส้นตรง ปัญหาของวงวิชาการรัฐศาสตร์ไทย คือ การรับเอาตำราจากตะวันตกมาใช้ กล่าวคือ เมื่อเขาสร้างทฤษฎีขึ้นมา แบบแผนและระบบทางการเมืองของเขาก็เปลี่ยนแปลงตามทฤษฎีที่สร้างขึ้นมาด้วย ประวัติศาสตร์ของตะวันตกจึงไม่เดินเป็นวงกลม ประเทศไทยทำแบบเขาไม่ได้เพราะไม่มีการสร้างข้อเท็จจริงจากทฤษฎีที่เรียนรู้มา ดังนั้นสิ่งที่ไทยพึงกระทำมากที่สุด คือ การสร้างสถาบันและหน่วยงานขึ้นมารองรับเป็นอันดับแรก ปัญหาสำคัญอีกประการ คือ การสร้างสถาบันศีลธรรมของรัฐ รัฐแถบอุษาคเนย์มีคุณลักษณะแบบ “รัฐนาฏกรรม” โดยรูปแบบของการขับเคลื่อนคุณลักษณะดังกล่าวเป็นการสร้างเรื่องราว วัฒนธรรม ความเชื่อ แบบแผนต่างๆ ให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของสังคม เป็นสังคมที่มีชนชั้นและคนทุกคนไม่เท่าเทียมกันประชาชนอยู่ตรงไหนของสังคม

นางกุลลดา กล่าวว่า การเมืองไทยมีลักษณะแบบ “การยักเยื้อง” เกิดจากการปะทะระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ตลอดเวลา สำหรับพลวัตของการเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำมักจะมีความเฉื่อยชาทางการเมืองเพราะรู้สึกว่าตนเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองเท่าที่ควร หากแต่ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบคิดดังกล่าวขึ้น ทำให้ประชาชนตระหนักถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่ผูกติดกับระบบทางการเมือง อาทิ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ บัตรทอง ทั้่งนี้เราอาจต้องมองการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น ปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลปัจจุบันก็มีความสามารถในการเข้าไปจัดการทรัพยากรตามรูปแบบที่ต้องการได้ซึ่งประเทศไทยประชาชนยังคงมีความหวังกับผู้นำ

Advertisement

นายสุธาชัย กล่าวว่า แม้ผ่านเวลามา 85 ปี คณะราษฎรยังคงถูกกล่าวหาว่า เป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทย แต่หากพิจารณาดีๆจะพบว่า กระแสการเมืองโลกขณะนั้นเป็นช่วงที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยทั้งรัสเซีย ตุรกี หรือสเปน ไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังคงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีลักษณะสังคมแบบศักดินาที่ถูกกำหนดตามชาติกำเนิด ทั้งนี้สิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย คือ หนังสือพิมพ์ของชนชั้นกลางทำหน้าที่เผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และประชาธิปไตย และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด จึงสรุปได้ว่าไม่ว่าจะมีคณะราษฎรหรือไม่ ไทยก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุดด้วยลมประชาธิปไตยจากตะวันตกที่พัดพามาสู่ชนชั้นกลางโดยไม่อาจอ้างได้ว่าประชาชนไทยไม่พร้อม

ด้านณัฐพล กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ไทยไม่มีสถาบันตัวแทนจึงอยากจะนำเสนอสถาบันตัวแทนสถาบันแรกของประเทศไทย ผ่านหัวข้อ “ผู้แทนชุดแรก มองชีวิตของท้องถิ่นผ่านสายตาสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก หลัง 24 มิถุนายน 2475” ตามมาตรา 1 แห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ในขณะนั้นคือ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้มอบอำนาจสูงสุดแก่สภาผู้แทนราษฎรอันมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละครึ่งให้สามารถทำการอภิปรายตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาลได้และผู้แทนฯชุดแรกก็ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยการอภิปรายรัฐบาล พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศชาติให้กับประชาชนผ่านสำนักโฆษณาการ และสร้างข้อเรียกร้องหลายประการที่มีแนวคิดนำสมัยเพื่อประชาชน เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อสร้างไฟฟ้าให้กับประเทศ อันแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของส.ส.ในยุคนั้น สรุปว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎร หากไม่มีสภาผู้แทนฯ ประชาธิปไตยก็จะเดินต่อไปไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image