ถึง “สวนดอกไม้” ไม่ใช่หมอ แต่ก็ช่วย “บำบัด” ผู้ป่วยได้นะ

มีใครมองเห็นต้นไม้ “ดอกไม้”แล้วอารมณ์เสียบ้าง?

เราว่า ไม่น่าจะมีนะ เพราะต้นไม้ ดอกไม้ นับเป็นความงาม และ ความรื่นรมณ์ที่ธรรมชาติมอบเป็นของขวัญให้มนุษย์ และยังสามารถเยียวยาอารมณ์ ความรู้สึกของคนเราได้ดีด้วย อีกทั้งที่ผ่านมา ยังมีการนำวิธีรักษาที่เรียกว่า”สวนบำบัด”มารักษาผู้ป่วยทางจิตเวชกันด้วย

อย่างที่บ้านพักผู้ป่วยทางจิตเวช ในหมู่บ้านรัสกี เพียสกี ทางภาคตะวันออกของประเทศโปแลนด์ ซึ่งรัฐบาลให้ทุนสนับสนุน ปัจจุบันมีผู้ป่วยจิตเวช 59 คนที่อยู่ในการดูแลรักษาด้วยวิธี “สวนบำบัด” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยา รักษาผู้ป่วยในบ้านพักแห่งนี้ มาตั้งแต่ปี 2557

“ในสวนดอกไม้ มีสภาพแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสได้หลากหลาย ผู้ป่วยสามารถดมกลิ่นดอกไม้ ต้นไม้ สามารถจับ สัมผัส หรือแม้กระทั่งอาจถูกหนามแหลมๆตำมือ แล้วภายในสวนยังเป็นที่ออกกำลังกายได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว ก็อาจฝึกจากการก้าวจากหินก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง แต่ด้วยความที่เรามีผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอยู่ด้วย ดังนั้นเราจึงต้องมั่นใจได้ว่า ภายในสวน ต้องไม่มีต้นไม้ หรือดอกไม้ที่เป็นพิษอยู่ “โบซีนา ซิวเช็ค ทาเรเน็ค นักชีววิทยา ผู้ริเริ่มสอนหลักสูตรสวนบำบัดที่มหาวิทยาลัยด้านเกษตรกรรมที่กรากุฟซึ่งจะเปิดสอนเดือนกันยายนนี้ บอกกับเอเอฟพี

Advertisement

ทั้งนี้เชื่อกันว่าเรื่องผลดีของสวนดอกไม้ที่มีต่อผู้ป่วย เป็นที่รู้กันดีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ แต่มีการถูกนำมาใช้ในการบำบัดยุคใหม่ ย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยถูกนำมาใช้บำบัด รักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และถึงแม้ฮอร์ติคัลเจอรัล( Horticultural ) หรือ “สวนบำบัด” จะไม่สามารถรักษาความเจ็บป่วยทางจิตเวชได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญ ก็ให้ความเห็นว่าสามารถช่วยกระตุ้นผู้ป่วยทั้งทางด้านเชาวน์ปัญญาและทางสังคม ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง และความรู้สึกพึงพอใจ หรือแม้แต่การที่ผู้ป่วยลุกออกจากห้องพักไปสูดอากาศบริสุทธิ์ในสวน เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้น

อลินา อนาเซวิซ ผู้อำนวยการบ้านพักผู้ป่วยในรัสกี เพียสกี ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ดูแลผู้ป่วยชั้นนำในโปแลนด์ ที่มีการนำวิธีสวนบำบัดมาใช้เยียวยาผู้ป่วย เล่าว่า เธอบังเอิญได้รู้จักวิธีบำบัดแบบนี้ ระหว่างเดินทางไปศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2556

Advertisement

“พวกเราจึงนำวิธี 2-3 แบบที่เราได้เรียนรู้จากสวิตเซอร์แลนด์กลับมาใช้ “อลินา เล่าพร้อมกับชี้ให้นักข่าวดูที่น้ำพุ ซึ่งในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ผู้ป่วยสามารถออกมาสัมผัสสายน้ำที่กำลังไหล และเดินลุยไปในบ่อน้ำเล็กๆ ซึ่งมีกรวดโรยอยู่ข้างใต้บ่อน้ำเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสบริเวณเท้าของผู้ป่วย

อลินา เล่าว่าเวลาเดินไปยังน้ำพุ ผู้ป่วยต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ซึ่งระหว่างทาง ผู้ป่วยจะได้สัมผัสทั้งเม็ดกรวด ทราย ท่อนไม้ ซึ่งต่างมีโครงสร้างที่แตกต่างกันเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสของผู้ป่วย
เธอยัง เล่าว่า สวิตเซอร์แลนด์ได้มอบเช็คมูลค่า 1.4 ล้านซวอตือ หรือราว 12,580,000 บาท ให้เธอมาสร้าง สวนบำบัด ซึ่งมีทั้งดอกไม้ พืชผักส่วนครัว และกล้วยไม้ในบ้านพักผู้ป่วยแห่งนี้ ซึ่งจำนวนเงินในเช็คใบนั้น สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายราว 85 % โดยมีหน่วยงานราชการท้องถิ่นช่วยกันออกค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ

ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยในบ้านพักรัสกี เพียสกี สามารถพักอยู่ที่นี่ได้ตามอาการป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ และมีสิทธิ์จะกลับไปเยี่ยมบ้าน หรือมีญาติมาเยี่ยมได้ ขณะที่การรับการรักษาด้วยวิธี “สวนบำบัด”ในแต่ละวัน ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยเจ้าหน้าที่บ้านพักเล่าว่า วันที่สภาพอากาศไม่ดี หรือในช่วงฤดูหนาว ผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์เศร้าหมองกว่าเดิมอย่างสังเกตเห็นได้ และเคยมีผู้ป่วยรายหนึ่งที่กลับไปเยี่ยมบ้าน แล้วกลับมาที่บ้านพักเร็วกว่ากำหนด โดยเธอบอกเหตุผลว่า “ฉันคิดถึงสวน “

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image