คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อนาคต ‘เบร็กซิท’ หลังเลือกตั้ง

AFP PHOTO

เช้าวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน เกือบ 1 ปีหลังจากที่ชาวอังกฤษลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ ให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “เบร็กซิท” เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นการเริ่มการเจรจาที่แปลกแปร่งพอควร เนื่องจากสภาวะการณ์แวดล้อมทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับการเจรจาครั้งนี้ เปลี่ยนแปลงไปมากมายอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

การเลือกตั้ง ที่รัฐบาลอังกฤษของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ จัดให้มีขึ้น ภายใต้ความคาดหวังว่า ไม่เพียงทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอนุรักษนิยมจะกลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสียงข้างมากเท่านั้น ยังคาดว่าจะทำให้พรรคฝ่ายค้านสำคัญอย่างพรรคแรงงาน ตกอยู่ในสภาพแตกแยก ง่อยเปลี้ยด้วยอีกต่างหาก
ทั้งหมดเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการเจรจาถอนตัวจากอียูภายใต้แนวทาง “ฮาร์ดเบร็กซิท” ซึ่งหมายถึงการเป็นอิสระจากสหภาพยุโรปแบบ “หมดจด” ในทุกๆด้านได้อย่างเต็มที่

แต่ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่คาดหวัง รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมไม่เพียงกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปเท่านั้น สถานะของพรรคแรงงานยังแข็งแกร่งมากที่สุดในรอบหลายปี ตรงกันข้ามกับเทเรซา เมย์ ที่สถานะนายกรัฐมนตรีตกอยู่ในสภาพง่อนแง่น และ “ไร้อำนาจ” ที่จะดำเนินการทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเบร็กซิท

นักสังเกตการณ์หลายคนระบุว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือการแสดงประชามติ “ไม่เอาด้วย” กับแนวทาง ฮาร์ด เบร็กซิท ของเทเรซา เมย์

Advertisement

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำได้ดีที่สุดเพียงแค่ พยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาสภาพการเป็นรัฐบาลต่อไป ตั้งแต่การจัดการสร้างเอกภาพภายในพรรค ด้วยการประนีประนอมความแตกแยกทางความคิดเกี่ยวกับเบร็กซิทในพรรค และพยายามแสวงหาพันธมิตรจากพรรคขนาดเล็กอย่าง พรรคสหประชาธิปไตย (ดีพียู) ที่มีจำนวน ส.ส. 10 ที่นั่งในเวสต์มินสเตอร์ เข้ามาเพื่อค้ำจุนเสถียรภาพของรัฐบาล

เทเรซา เมย์ จำเป็นต้อง “ปรับคณะรัฐมนตรี” เพื่อป้องกันการแตกแยกภายในพรรคไม่กี่วันหลังการเลือกตั้ง พยายามดึงเอา “แกนนำ” ของกลุ่มต่อต้านและกลุ่มนิยมสหภาพยุโรปเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกัน ตั้งแต่การเลือกปรับเอา ดาเมียน กรีน ของกลุ่มต่อต้านเบร็กซิท จากระดับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐให้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ดึงเอา ไมเคิล โกฟ แกนนำกลุ่มเบร็กซิทคนสำคัญในพรรคอนุรักษนิยม กลับมาเป็นหนึ่งในทีมบริหารอีกครั้ง มอบตำแหน่งรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมให้

เมย์ ไม่สามารถปลด ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลังคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการ “ฮาร์ดเบร็กซิท” พ้นตำแหน่งได้อย่างที่ตั้งใจไว้ก่อนเลือกตั้ง ต้องปล่อยให้ดำรงตำแหน่งต่อไป เช่นเดียวกับการยอมให้ อลิสแตร์ เบิร์ท กลับเข้ามาเป็นทีมบริหารในกระทรวงต่างประเทศ แต่เลือก สตีฟ เบเกอร์ ที่ต่อต้านอียูสุดตัว เข้าไปเป็นคนสำคัญในกระทรวงกิจการเบร็กซิทของ เดวิด เดวิส

ส.ส.สายกลางรายหนึ่งทบทวนรายชื่อรัฐมนตรีใหม่กับผู้สื่อข่าวแล้วตั้งคำถามเปื้อนยิ้มว่า

จินตนาการการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลออกไหมว่าสภาพจะเป็นอย่างไร!

AFP PHOTO

 

ในขณะที่ความพยายาม “ปะผุ” เอกภาพภายในพรรคด้วยการดึงให้คนที่อยู่ในฝั่งตรงกันข้ามมาทำงานร่วมกัน ยังไม่ได้รับการทดสอบอย่างจริงจัง จนกว่าจะมีการลงมติในสภาว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐบาล ที่แถลงผ่าน “พระราชดำรัสพระราชินี” ของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ทำให้เกิด “ความไม่ชัดเจน” ขึ้นกับแนวทางการเจรจาเบร็กซิทในทันที

แม้ไม่มีการยืนยันออกจากปากของ เทเรซา เมย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงหลายวันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นักวิเคราะห์ฟันธงกันเอาไว้ว่า จะไม่มี “ฮาร์ดเบร็กซิท” อีกต่อไป กำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว

การแสดงออกของ รัฐมนตรี เดวิด เดวิส ในการเจรจาเบร็กซิทครั้งแรก ที่ลงเอยด้วยการ “ยอมตาม” แนวทางที่ มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจาของอียูเสนอไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นตั้งแต่การยอมเจรจาเรื่อง “เงินพันธะผูกพัน” และเงื่อนปมความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองให้ได้ความชัดเจนในระดับหนึ่งเสียก่อนที่จะเริ่มการเจรจาเพื่อทำความตกลงด้านการค้า ซึ่งเป็นแนวทางที่อังกฤษแสดงความเห็นคัดค้านมาตลอดก็ดี เรื่อยไปจนถึงการประกาศท่าทีของ เมย์ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอียู ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อ 22 มิถุนายน เรื่องการรับประกันสิทธิพลเมืองอียูในอังกฤษ ก่อนหน้าการเบร็กซิท ก็ดี

ล้วนสะท้อนให้เห็นสภาพของการ “หกล้มหัวคะมำ” ก่อนเดินถึงโต๊ะเจรจาของรัฐบาลอังกฤษ ตามที่นักสังเกตการณ์อุปมาเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งสิ้น

แต่การโอนอ่อนผ่อนตามในเบื้องต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการละทิ้งแนวทาง “ฮาร์ดเบร็กซิท” ไม่ได้หมายความว่า อังกฤษมีแนวทางที่ “ชัดเจน” ในการเจรจาเบร็กซิทครั้งนี้แต่อย่างใด

ตรงกันข้าม “ความไม่แน่นอน” และ “ความไม่ชัดเจน” ในแนวทางการเจรจาจากทางฝ่ายอังกฤษ ปรากฏเห็นได้ชัดเจนมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา

การปราศจากความชัดเจนดังกล่าวสะท้อนชัดเจนให้เห็นแม้แต่ในกระแส “พระราชดำรัส” ซึ่งจำเป็นต้องเป็นไปตาม “ร่าง” ที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำเสนอตามประเพณีการเมืองการปกครองของอังกฤษ

พระราชดำรัสดังกล่าว โดยปกติแล้วจะสะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญๆ โดยพื้นฐานทั้งหมด และจะชัดเจนอย่างยิ่งว่า ในสมัยประชุมของสภาที่จะมีขึ้นต่อไปนี้ รัฐบาลอังกฤษจะทำอะไร เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายใด ในพระราชดำรัสครั้งนี้ ซึ่งครอบคลุมการประชุมสภาเทียบเท่ากับ 2 สมัยประชุมติดต่อกัน กลับคลุมเครือ ไม่ชัดเจนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

แน่นอน ภายในพระราชดำรัส มี กำหนดร่างกฎหมายเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูอยู่ด้วย โดยรัฐบาลกำหนดจะตรากฎหมายออกมาเพื่อการนี้รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ ฉบับแรก เป็นกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกการใช้กฎหมายต่างๆของอียู และตรากฎหมายภายในของอังกฤษขึ้นแทนที่ ส่วนที่เหลือเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการค้า และศุลกากร ซึ่งแยกออกจากกัน ครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงภาษีสรรพสามิต ต่อด้วยกฎหมายว่าด้วยเกษตรกรรมและการประมง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ กฎหมายว่าด้วยการแซงก์ชั่้นระหว่างประเทศ สุดท้ายคือกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งจะยกเลิกกฎหมายในส่วนที่เป็นของอียูแล้วให้พลเรือนอียูอยู่ภายใต้กฎหมายของอังกฤษ

ทั้งหมดนั้น ผู้สันทัดกรณีระบุตรงกันว่า คลุมเครือมากถึงขนาดที่สามารถนำไปสู่ “เบร็กซิท” ได้ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ ฮาร์ดเบร็กซิท ชนิดสุดๆ เรื่อยไปจนถึง ซอฟท์เบร็กซิท ชนิดเต็มที่เช่นเดียวกัน

 

 

ความไม่ชัดเจนในแนวทางการเจรจาเพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปดังกล่าว สะท้อนถึงแรงกดดัน “รอบทิศทาง” ที่มีต่อตัวนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ และรัฐบาลอังกฤษหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่จนถึงขณะนี้ สิ่งสำคัญที่สุดต่อสถานะของเมย์และรัฐบาลอังกฤษ กลับเป็นท่าทีภายในพรรคอนุรักษนิยมเอง

ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลัง ที่แสดงออกชัดเจนไม่เห็นด้วยกับการออกจากการเป็นสมาชิกตลาดร่วมยุโรป ถึงขนาดยืนกรานก่อนหน้าการเลือกตั้งว่า เทเรซา เมย์ ควรทบทวนเรื่องนี้ เพราไม่เพียงเป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆทั้งหลายในอังกฤษไม่เห็นด้วยเท่านั้น แฮมมอนด์ ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้อังกฤษสูญเสียตำแหน่งงานไปทันที 10,000 ตำแหน่ง

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มสนับสนุนเบร็กซิท กลับเป็นส.ส.กลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรคอนุรักษนิยม แม้จะเสียที่นั่งไปบ้าง แต่หลังเลือกตั้งครั้งใหม่ จำนวนส.ส.กลุ่มนี้ยังคงมีมากถึง 48 คน

สำหรับกลุ่มหนุนเบร็กซิท คำสัญญา 3 ประการของนายกรัฐมนตรีที่ “เลิกล้มไม่ได้” และ “ต่อรองไม่ได้” ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับเบร็กซิท ประกอบด้วย ประการแรก อังกฤษต้องถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดร่วมยุโรป ประการถัดมา อังกฤษต้องยกเลิกอำนาจศาลของสหภาพยุโรปเหนือดินแดนของอังกฤษ ประการสุดท้าย จำเป็นต้องมีการดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อเป็นหลักประกันว่า จำนวนผู้ที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาภายในประเทศ ต้องอยู่ในระดับต่ำกว่า 100,000 คนต่อปี

ข้อเท็จจริงที่ว่า จำนวนเสียงส.ส.ทั้งหมดของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้ ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งอยู่ถึง 2 ที่นั่ง ทำให้ แม้จะมีเพียง 48 ที่นั่ง ส.ส.กลุ่มหนุนเบร็กซิทก็สามารถล้มรัฐบาลได้ เช่นเดียวกับกลุ่มคัดค้านเบร็กซิท ที่มีจำนวนไม่น้อย 20 คน รวมไปถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กอย่าง ดีพียู ที่มีส.ส.เพียง 10 คน ก็สามารถล้มรัฐบาลของเทเรซา เมย์ ได้ทั้งหมด

แรงกดดันที่ทั้ง 3 กลุ่มมีต่อรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องน้อยๆเลยทีเดียว

เหตุผลเดียวที่เทเรซา เมย์ ยังคงประคองรัฐบาลเสียงข้างน้อยของตนต่อไปได้ ก็คือความเป็นจริงที่ว่า ส.ส.อนุรักษนิยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหนุนหรือกลุ่มต้านเบร็กซิท ยังไม่แน่ใจว่า หากล้มรัฐบาลแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ตนจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งส.ส.อีกหรือไม่ เท่านั้นเอง

หลังการเลือกตั้งเมื่อ 8 มิถุนายน มีการสำรรวจความคิดเห็นจากประชาชนโดยรวม พบว่า มีเพียง 39 เปอร์เซ็นต์ของคนอังกฤษเท่านั้นที่สนับสนุน พรรคอนุรักษนิยม ตรงกันข้ามกับพรรคแรงงานที่คะแนนนิยมพุ่งขึ้นสูงถึง 45 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่กลุ่มสนับสนุนเบร็กซิท จะท้าทายการนำของเทเรซา เมย์ ผลสำรวจก็ออกมาไม่เป็นใจสักเท่าใดนัก

ชาวอังกฤษเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่อยากเห็นและต้องการสนับสนุน บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน ซึ่งสนับสนุนเบร็กซิทให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจาก เมย์ ในเวลาเดียวกัน คนอื่นๆในกลุ่มสนับสนุนเบร็กซิทที่อยู่ในข่ายทะเยอทะยานอยากดำรงตำแหน่งผู้นำอังกฤษ มีคะแนนนิยมย่ำแย่กว่า บอริส จอห์นสัน ด้วยซ้ำไป

พรรคอนุรักษนิยมในยามนี้ นอกจากจะเผชิญกับวิกฤตศรัทธาอย่างหนักแล้วยังมีวิกฤตผู้นำภายในพรรคอีกด้วย

 

 

ถึงแม้สภาพการณ์จะเอื้อต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เทเรซา เมย์ ต่อไป แต่มีความเป็นไปได้สูงมากว่า เมย์จะตกอยู่ในสภาพสูญเสียอำนาจ สูญเสียการนำโดยสิ้นเชิง และมีโอกาสที่จะถูกโค่นพ้นจากตำแหน่งได้ตลอดเวลา หากมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง “จุดชนวน” แตกหักให้เกิดขึ้น

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานถึงเรียกร้องต่อสมาชิกพรรคทั้งหมดหลังเลือกตั้งว่า ขอให้ตั้งมั่นอยู่ใน “โหมดหาเสียง” แบบถาวรต่อไป เพราะเชื่อว่า ภายในปีนี้ อังกฤษ จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ

สถานะง่อนแง่นของ เทเรซา เมย์และรัฐบาลอังกฤษ จึงไม่เพียงกลายเป็นจุดอ่อนบนโต๊ะเจรจาเบร็กซิทเท่านั้น ยังเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” สำคัญที่ทำให้การเจรจาล้มเหลวได้ตลอดเวลาเพราะ “รัฐบาลล่ม” อีกด้วย
คู่เจรจาของอังกฤษในสหภาพยุโรป จึงจับตามองสถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษอย่าง “กังวล” ผสมผสานกับความหงุดหงิดที่ “อียู” กลายเป็นเหมือน “ตัวประกัน” สำหรับการเมืองภายในประเทศนั้นอีกด้วย
ไม่มีคู่เจรจาคนไหน ต้องการให้จู่ๆ ต้องล้มเลิกการเจรจาเพราะอีกฝ่ายหมดอำนาจ แล้วต้องมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง ทั้งๆที่กำหนดเวลาการออกจากอียู ในเดือนมีนาคม 2019 ใกล้เข้ามาทุกทีแน่นอน

สถานการณ์ในอังกฤษ ทำให้โอกาสที่จะเกิด “เบร็กซิท” โดยไม่มีข้อตกลงใดๆระหว่างอังกฤษกับอียู ขึ้นมาทดแทน มีมากขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้โอกาสที่จะไม่เกิด “เบร็กซิท” ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจตามมา ก็คือ สื่อบางสำนักถึงกับเริ่มผสมคำใหม่มาใช้กันแล้ว ด้วยการนำเอาคำว่า “บริเทน” มารวมกับ “รีเทิร์น” กลายเป็น “บรีเทิร์น” หรือบางรายก็เอาง่ายๆแค่เพิ่มคำว่า “เอ็กซิท” เข้าไปอีกคำ กลายเป็น “เอ็กซิท ฟรอม เบร็กซิท”

ที่ทำให้อังกฤษกลายเป็น “ตัวตลกระหว่างประเทศ” ไปอย่างช่วยไม่ได้!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image