‘ประวัติศาสตร์ในหนังสือพิมพ์’ ต่ออายุความรู้ เก่า-กรอบ ด้วยเทคโนโลยี

ถ้าเอานิ้วแตะลงไป กระดาษจะหักไหมนะ” …   คือคำถามแรกที่วาบเข้ามาในความรู้สึก หลังจากที่เห็นม้วนกระดาษที่วางอยู่บนโต๊ะ

ความเหลือง ความกรอบ และความเก่าที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้า ย้ำชัดเลยว่าม้วนกระดาษหนังสือพิมพ์เหล่านี้มีอายุอานามไม่น้อยแน่ๆ

เท่าที่สำรวจคร่าวๆ น่าจะเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึง ช่วงรัชกาลที่ 6 ครับเอนก นาวิกมูล นักวิชาการ นักเขียนสารคดี และผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์กล่าวกับเราด้วยรอยยิ้ม พลางชี้ให้ดูประกาศของหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ที่ถูกพรมน้ำจนชุ่มเพื่อให้สามารถอ่านเนื้อหาได้อย่างชัดเจน

อย่างที่หลายคนคงทราบแล้วว่า หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 แต่หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่เผยแพร่สู่ประชาชนเกิดชึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ ดรุโณวาท และมียอดจำหน่ายสูงมากจนทำให้เกิดระบบจัดส่งหนังสือ และเป็นยุคที่วงการหนังสือพิมพ์ตื่นตัวอย่างยิ่ง และในสมัยรัชกาลที่ 6 กิจการหนังสือพิมพ์ก็เจริญก้าวหน้ามาก สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และเสนอแนะความคิดเห็นถึงการบริหารประเทศได้อย่างเสรี มีทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทย อาทิ จีนโนสยามวารศัพท์ กรุงเทพเดลิเมล์ หนังสือพิมพ์ไทย หรือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอย่าง The Bangkok Times

Advertisement

และส่วนหนึ่งของ จีนโนสยามวารศัพท์  หนังสือพิมพ์ไทย และ “The Bangkok Times” ก็กำลังจะถูกทำให้กลายเป็นไฟล์ดิจิตอลที่สามารถสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องไปนั่งหมุนไมโครฟิล์มให้เวียนหัว ตาลาย จนบ้านหมุน  ด้วยความร่วมมือของ สมาคมจดหมายเหตุไทยและ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)หลังจากที่เซ็นลงนามข้อตกลงกันไปเมื่อปีที่ผ่านมา

ซึ่งหนังสือพิมพ์ทั้งสามหัว ที่มีราว 70-80 ม้วนนั้น คือสมบัติส่วนตัวที่เอนกบอกว่าซื้อมาจากซาเล้งขายของเก่าเมื่อราวพ.ศ. 2547

ซาเล้งใส่ถุงดำมาเลยเขากล่าวพลางหัวเราะเบาๆ

Advertisement

ผมดูคร่าวๆแล้วเห็นว่าเป็นหนังสือพิมพ์สำคัญและเก่าแก่ ซื้อไปเกือบแสนกัดฟันซื้อมา แล้วทิ้งค้างไว้ จริงๆก็พยายามถ่ายภาพคลี่ออกมาแต่ทำยากมาก ทำได้10-20 หน้าก็เลิก เราก็พับวางไว้จนฝุ่นเกาะ เราก็ไม่กล้าแตะ จนกระทั่งคุณธงชัย (ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์) ซึ่งเป็นนายกสมาคมหอจดหมายเหตุไทย ไปคุยกับคุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ (ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช.)  ซึ่งเขามีโครงการสนับสนุนเอกสารเก่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ผมก็อนุญาตให้ใช้ ก็เลยเริ่มโครงการที่จะซ่อมแซมและแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอลเพื่อที่จะอัพโหลดเข้าเว็บไซต์ เข้าใจว่าในหอสมุดอาจจะมีเป็นไมโครฟิล์ม ทำเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ซึ่งดูยากมาก แล้วไม่แน่ใจว่าครบหรือเปล่า เครื่องดูไมโครฟิล์มก็เก่าแก่ พลิกดูทีหนึ่งก็เวียนหัว เมื่อมาถึงยุคดิจิตอลแล้ว ความรู้ที่มีก็ควรเผยแพร่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่เหมาะสม

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (ซ้าย)เอนก นาวิกมูล (ขวา)

เอนกเล่าว่า หนังสือพิมพ์ทั้งสามหัวนั้นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจและมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อย่างจีนโนสยามวารศัพท์ แจ้งข่าวความเคลื่อนไหว แต่ผมยังไม่ได้อ่านมากมายนะ ส่วน The Bangkok Times จะลงข่าวทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่หาอ่านยาก ซึ่งมีประโยชน์มากคือดีทั้งข่าวสารและเนื้อหาสารพัน ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทย ออกช่วงต้นรัชกาลที่ 6 ก็จะมีข่าวมากขึ้น มีข่าวใหญ่ เช่น บุญเพ็งหีบเหล็ก เป็นข่าวใหญ่ และในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังมีข่าวชาวบ้านเล็กๆน้อยๆรายละเอียดสนุกๆด้วย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นต้นธารหนึ่งที่มีการคัดเรื่องเอาไปแต่งเป็นเล่มๆขายอีก

ข่าวสารต่างๆไม่ว่าจะเป็นข่าวในประเทศ ข่าวเล็กๆน้อยๆ วิ่งราว ตัดสินคีความ ข่าวที่แปลมาจากต่างประเทศ แม้กระทั่งโฆษณาต่างๆมีประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์มาก อย่างหนังสือแรกมีในสยามที่ผมเขียน ก็ศึกษามาจากโฆษณา แม้กระทั่งผมค้นเรื่องลูกชายนายจิตร (ฟรานซิส จิตร) ผมพบปีที่ก่อตั้งโรงพิมพ์ในโฆษณายุครัชกาลที่ 5  งานผมคืองานปะติดปะต่อ เพราะฉะนั้นนี่คือจดหมายเหตุทางสังคมอย่างหนึ่งเอนกอธิบาย

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นายกสมาคมหอจดหมายเหตุ และเจ้าของสนพ.ต้นฉบับ ฟังแล้วก็พยักหน้าเห็นด้วย ก่อนบอกว่าหนังสือพิมพ์เก่าทุกม้วนที่อยู่ตรงหน้าเรานี้มีค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างมากมาย

หนังสือพิมพ์รายวันทั้งสามหัวที่จะนำมาแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอลนี้ มีระยะเวลาห้าหกปีติดต่อกัน ซึ่งทำให้เห็นหลักฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกายภาพหรือนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่มีต่อประเทศไทย ในขณะนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเหตุการณ์บ้านเมืองในครั้งกระนั้น ไฟไหม้ ตัดถนน สร้างทางรถไฟ รวมถึงข่าวต่างประเทศที่ที่แปลลงนสพ.ด้วย จะเป็นประโยชน์มหาศาลในการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ขาดๆวิ่นๆและที่สำคัญที่สุดคือ เข้าถึงข้อมูลง่าย แปลงเป็นดิจิตอลแล้วก็อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์เลย อยู่ที่ไหนของโลกก็สืบค้นความรู้นี้และนำไปใช้ประโยชน์ได้

ธงชัยบอกว่านี่เป็นโปรเจ็คแรกที่ทำกับสวทช.อย่างเป็นทางการ ซึ่งถ้าองค์กรไหนสนใจทำอยากเชิญมาหารือกัน เพื่อให้งานจดหมายเหตุก้าวหน้าและสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะยังมีอีกหลายองค์กรที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เก็บไว้ ที่สำคัญงานนี้จำเป็นต้องร่วมมือกันหลายฝ่ายถึงจะลุล่วงได้

เรื่องนี้ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งก็ทำได้ ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งนักจดหมายเหตุ นักอนุรักษ์หนังสือเก่า ช่างภาพ คนมีความรู้ด้านไอที จริงๆมีอีกหลายที่ที่เก็บไว้ อย่างสยามสมาคมมี The Bangkok Times เพราะผู้บริหารซึ่งเป็นฝรั่งในสมัยมีวิสัยทัศน์เลยเก็บไว้ แต่ก็กรอบเต็มทีเหมือนกัน ต้องไปดูกันอีกที

เอนกตบท้ายก่อนลงมือทดลองทำงานกับนสพ.กรอบๆตรงหน้าต่อว่า

ความรู้ถ้าทิ้งค้างไว้ก็ไม่มีประโยชน์ เอาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมารับใช้ในการต่ออายุความรู้ คือสิ่งที่สร้างประโยชน์ได้ที่สุดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image