มธ.เสวนา 85 ปีประชาธิปไตย ชี้อภิวัฒน์สยาม ‘ทำคนให้เป็นคน’ แนะกล้าพูดความจริง-ผู้มีอำนาจต้องรับฟัง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. ร่วมกับ คณะกรรมการประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนาวิชาการ ในโอกาสครบรอบ 85 ปี การอภิวัตน์ 2475 ในหัวข้อ “ขุดรากถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร” อาทิ พ.ต.พุทธินาท พลพยุหเสนา บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการอิสระด้านกฏหมาย น.ส.ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา และปรัชญา นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวว่า ถ้าต้องการให้การอภิวัฒน์ 2475เป็นความจริงนั้นจะต้องย้อนมองไปยังอดีต การศึกษาของเราที่เราสอนเข้าหาวัตถุมากกว่าการหาความสุขในชีวิต ดังนั้นเราต้องมามองกันที่หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยกันก่อน ประชาธิปไตยนั้นคือการให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียง รับฟังและพูดคุยกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร ดังนั้นหากเราต้องการที่จะพ้นหล่มตรงนี้ออกไปได้ทุกคนจะต้องมีสิทธิมีเสียงกล้าพูดคุยความจริงต่อกัน และผู้มีอำนาจก็จะต้องรับฟังด้วย

พ.ต.พุทธินาท พลพยุหเสนา บุตรชายพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็น 1 ในคณะราษฎร กล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นทายาทคณะราษฎรจึงมีความภูมิใจ ที่คณะราษฎรกล้าเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำเอาระบอบประชาธิปไตยมามอบให้แก่ปวงชนชาวไทย

“การปฏิวัติในประเทศไทยมีกี่ครั้ง ผมรับได้ครั้งเดียวคือ ครั้งที่คุณพ่อและคณะราษฎร เพราะครั้งนั้นไม่มีการนิรโทษกรรมให้ตนเอง มีแต่ไม่สำเร็จก็เจ็ดชั่วโคตร เพราะฉะนั้นเป็นการเอาชีวิตเข้าแลกด้วยใจบริสุทธิ์เพื่อเอาประชาธิปไตย” พ.ต.พุทธินาท กล่าว

Advertisement

พ.ต.พุทธินาท กล่าวว่า ประชาธิปไตยเกิดมาในโลกเกินกว่า 2,000 ปี เพราะพระพุทธเจ้าเป็นองค์แรกที่ทำให้เกิดประชาธิปไตย มีเสรีภาพ ภราดรภาพ ในวงพระสงฆ์ทั้งหลาย ดังนั้นระบอบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด เป็นระบอบที่บริสุทธิ์ถูกต้อง แล้วคณะราษฎรกล้าเอาชีวิตเสี่ยงมามอบให้ประชาชน คำว่ามรดกไม่มี เพราะว่าคณะราษฎรไม่ได้เป็นเจ้าของระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาธิปไตย มาจากคำว่าประชาชนบวกกับอธิปไตย ซึ่งอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน

นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการอิสระ ด้านกฏหมาย กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญของการอภิวัฒน์สยามวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั่นคือ การทำให้คนเป็นคน คณะราษฎรเลือกระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาเป็นระบอบการปกครอง โดยแบ่งการใช้อำนาจเป็น 3 ส่วน อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ ในทัศนะส่วนตัวเห็นว่า องค์กรตุลาการ เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยราษฎรที่ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน นักวิชาการหลากหลายให้ความสำคัญและสนใจในอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แต่ไม่ได้ตระหนักว่า อำนาจตุลาการซึ่งโดยเนื้อแท้นั้นเป็นอำนาจอธิปไตยที่มาจากราษฎร เจ้าของอำนาจโดยแท้นั้นกลับมีการพูดถึงน้อยมาก กระทั่งการเกิดขึ้นของคณะนิติราษฎร กฎหมายเป็นเครื่องมือในความชอบธรรมของอุดมการณ์ของระบอบเท่านั้น กฎหมายไม่ใช่มรดกของคณะราษฎร แต่อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาต่างหากที่เป็นมรดก และคณะราษฎรจะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจตุลาการ

ขณะเดียวกัน ตนขอเสนอว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นนโยบายที่สืบต่อมาจากแนวคิด “ภราดรภาพนิยม” ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการเห็นสังคมที่ทุกคนไม่อดตาย มีงานทำ มีความมั่นใจทางเศรษฐกิจไม่ล้มลายทางสุขภาพ คนที่ร่ำรายช่วยเหลือคนที่รวยน้อยกว่า เพราะไม่มีใครู้ว่า วันหนึ่งอาจจะรวยหรือจนภายในพริบตา ถือเป็นความต้องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่เลือกหน้า ​

Advertisement

น.ส.ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎรไม่ได้มีเพียงแค่การรื้อทิ้งแล้วถูกแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมแบบประเพณีดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบอื่นๆ ด้วยการถูกเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ อย่าง อนุสารีย์ประชาธิปไตย ที่ถูกสร้างขึ้นโดยอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่เฉพาะเจาะจงไปที่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง จึงเปิดโอกาสให้มีการเชื่อมตัวอนุสารีย์ประชาธิปไตยเพื่อเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยในการตีความอื่นๆที่ไม่สัมพันธ์กับคณะราษฎร จึงทำให้ที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าว จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเสื้อเหลือง และเสื้อแดง

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้พระสงฆ์มีเวที มีปากมีเสียงต่อรอง โดยมีคณะพระภิกษุหนุ่มคณะหนึ่ง ชื่อคณะปฏิสังขรการณ์พระศาสนา ออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตย เพราะอึดอัดกับระบบเดิมที่ไม่เป็นธรรมระหว่างนิกาย ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีอำนาจ ในที่สุด มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ยกเลิกมหาเถรสมาคม มาสู่ระบบคล้ายๆประชาธิปไตย ที่แบ่งเป็นสามอำนาจ คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่ว่าที่มาของผู้ที่เข้ามาในตำแหน่งสังฆนายก สังฆมนตรี และสังฆสภา มาจากการคัดเลือก ไม่ได้มาจาการเลือกตั้ง ซึ่งการแบ่งสามอำนาจเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้มีสภาสงฆ์ มีการถ่วงดุล โดยคณะราษฎร์ต้องการให้คณะสงฆ์ปรับตัวเข้ากับประชาธิปไตย ผลก็คือมีโครงการเผยแพร่ และมีนโยบายให้พระสงฆ์ไปเทศน์ให้ชาวบ้านเข้าใจ และตีความศาสนาให้สนับสนุนประชาธิปไตย โดย พระพุทธทาสภิกขุ เป็นพระสงฆ์ที่มีความสำคัญมากในการผลักดัน แต่น่าเสียดายว่า สิ่งที่คณะราษฎรสร้างกลับถูกจอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ ยกเลิก และนำมหาเถรสมาคมกลับมาใช้ ในปี 2505

ทั้งนี้ ก่อนการเสวนา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญวิทยากรทั้งหมดมาพูดคุยทำความเข้าใจถึงกรอบและเนื้อหาในการพูดครั้งนี้ ประมาณ 10 นาที และในห้องเสวนามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์จำนวนหนึ่ง โดยเนื้อหาในการเสวนา วิทยากรจะพูดย้อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เกิดคณะราษฎร รวมทั้งเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในแง่มุมต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image