“ทีดีอาร์ไอ”จวก85ปีประชาธิปไตยไทยไปไม่ถึงไหน-แนะรัฐเดินหน้า4มาตรการเดินหน้าประเทศ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อ ในงานการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2560 ครบรอบ ๘๕ ปี การอภิวัฒน์สยาม หัวข้อ “ประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน” นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นายปรีดี เคยกล่าวไว้ว่า การเมืองไทยตามระบบประชาธิปไตยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือนับถึงปัจจุบันก็ครบ 85 ปี เห็นว่า ยังห่างไกลกับความฝันของนายปรีดี พนมยงค์ เพราะนับตั้งแต่พ.ศ. 2745 ก็มีการยึดอำนาจโดยทหาร และก็กลับสู่ระบบอบประชาธิปไตยหมุนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อใดที่การเมืองมีปัญหา ย่อมส่งผลต่อสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะทั้ง 2 ส่วนนี้ ต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างหนาแน่น เพราะการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เป็นระบบการปกครองจากโครงสร้างส่วนบน เพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างส่วนล่าง เมื่อประชาชนเดือดร้อน จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการเมือง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา ยังพบว่า สำหรับการปกครองของไทยนับตั้งแต่พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา หากเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จะมีนโยบายสวัสดิการเพื่อประชาชนมากกว่าการปกครองที่มาจากการรัฐประหาร ทั้งสวัสดิการแรงงาน บำเหน็จบำนาญ การศึกษา ประกันสังคมต่างๆ กองทุนเงินทดแทน การรักษาพยาบาล แต่หากรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อาจจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสวัสดิการเพื่อข้าราชการ หรือหรือถึงขึ้นลดสวัสดิการเพื่อประชาชนของประเทศก็มี และหากมองเฉพาะรัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายเพื่อประชาชนให้เห็นบ้าง คือ นโยบายอุดหนุนเด็กแรกเกิด และอาจจะมีอีก 1-2 นโยบายออกตามมาทีหลัง แต่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ เมื่อเทียบกับยุคประชาธิปไตย ที่ให้สวัสดิการประชาชนมากกว่า จึงถือว่าประชาธิปไตยทำให้ประชาชนกินได้ แต่ทั้งนี้ ประชาชนเองต้องเข้าใจระบอบประชาธิปไตยด้วย ไม่เช่นนั้น ก็จะเกิดผลเสียขึ้นได้

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากวัตถุประสงค์ของนายปรีดีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าถ้านายปรีดี มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้นายปรีดีคงเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยไม่สามารรถไปถึงจุดเป้าหมายได้ เพราะการจัดความสามารถของไทยโดยเวิรล์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม หรือดับเบิ้ลยูอีเอฟ โดยด้านที่ต่ำเห็นเด่นชัด คือ กฎกติกาของภาครัฐ ทำให้ลำดับคุณภาพของรัฐบาลไทยต่ำกว่าคุณภาพของรัฐบาลมาเลเซีย จีน แม้กระทั่งแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รัฐไทยไม่มีความสามารถมากมายอย่างที่เราคาดหวังได้ รัฐไทยอาจจะมีความสามารถมากพอที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน จับประชาชนไปปรับทัศนคติได้ แต่รัฐไทยกระจอกเกินไปที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เพราะรัฐไทยรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากเหลือเกิน แต่การรวมศูนย์กลับทำงานแยกส่วนกัน กระทรวงใครกระทรวงมัน กรมใคร กรมมัน หรือแม้แต่กองใครกองมัน ไม่ทำงานแบบเชื่อมโยงกัน แนวคิดที่ออกจากกรุงเทพ แต่กลับใช้ทั่วประเทศ และแนวคิดไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน รัฐพยายามรวบอำนาจเข้ามา ข้าราชการขีดความสามารถน้อยลงทุกที ผมเห็นความเสื่อมถอยของคุณภาพข้าราชการ ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งผลตอบแทนต่ำกว่าภาคเอกชน ข้าราชการฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง จนราชการทำงานไม่เต็มที่ เหลือแต่พวกจงรักภักดี จนกระทั่งการตรวจสอบจากหลากหลายหน่วยงาน จนข้าราชการกลัวถูกฟ้อง เลยไม่กล้าทำอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐไทยจะเดินหน้าต่อไป ควรทำอย่างน้อย 4 ทิศทาง คือ 1.ถ้ารัฐส่วนใดไม่สามารถบริหารได้ ต้องกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น 2. เปิดส่วนร่วมให้สังคมมีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้น 3.ให้ธุรกิจ ภาคเอกชนมีส่วนร่วม 4.ให้ภาครัฐปรับบทบาทของตัวเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image