ภัย ‘สารพัดก๊าซพิษ’ ภัย ‘บ่อบำบัดน้ำเสีย’

แล้วก็เกิดขึ้นมาอีกจนได้ สำหรับอุบัติเหตุที่ไม่น่าจะเกิดกับพนักงานและนักศึกษาฝึกงานของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ผลิตอาหารแปรรูปเกี่ยวกับอาหารสัตว์ปีกประเภทไก่และเป็ด ซึ่งตั้งอยู่ซอยบางนา-ตราด ขาเข้า เขตบางนา พลัดตกลงไปในบ่อรวบรวมระบบน้ำเสีย เป็นเหตุให้เสียชีวิตไปถึง 5 คนด้วยกัน ยังรอความแน่ชัดถึงวินาทีแห่งความตายนั้นเกิดจากอะไรขึ้น และเกิดขึ้นได้อย่างไรจากเหตุการณ์ดังกล่าว

สุเมธา วิเชียรเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนฉุกเฉินสารเคมี และผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) บอกว่า ในบ่อรวบรวมน้ำเสีย จะมีก๊าซอันตรายมากอยู่ 3 ชนิด คือ

ก๊าซไข่เน่า หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก๊าซแอมโมเนีย และ ก๊าซมีเทน ในปริมาณที่สูงมาก เช่น บริเวณผิวบ่ออาจจะสูงถึง 10,000 พีพีเอ็มมิลลิกรัมต่อลิตร หรือส่วนในล้านส่วน สูงขึ้นมาเหลือ 5,000 พีพีเอ็ม ส่วนบริเวณปากบ่อ ณ นาทีแรกๆ ของการเปิดฝาบ่อ อาจจะเหลือแค่ 1,000 กว่าๆ พีพีเอ็ม แต่ความร้ายกาจของก๊าซไข่เน่าที่มีความเข้มข้นนับพันพีพีเอ็มในขณะนั้น

แค่สูดลมหายใจเข้าไปครั้งเดียว ก็สามารถทำให้หมดสติล้มลง ซึ่งอาจจะตกลงไปในบ่อได้Ž ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตรายกล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุเพราะก๊าซไข่เน่าหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์นี้จะเข้าไปบล็อกไม่ให้ก๊าซออกซิเจนที่ร่างกายต้องการไปรวมกับฮีโมโกลบินในเลือด หากช่วยไม่ทันโอกาสที่ผู้ได้รับก๊าซพิษชนิดนี้เข้าไปเสียชีวิตมีสูงมาก

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนฉุกเฉินสารเคมี กรมควบคุมมลพิษบอกด้วยว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้คนตกลงไปในบ่อที่เต็มไปด้วยก๊าซพิษเช่นนี้ คนที่ลงไปช่วยต้องมีสติมากๆ ต้องมีเครื่องมือพร้อมที่จะลงไปช่วย เพราะบริเวณก้นบ่อนั้นปริมาณก๊าซพิษสูงกว่าบริเวณปากบ่อหลายเท่าตัว ก่อนลงไปช่วยจะต้องมีเครื่องเป่าลม และมีถังออกซิเจนช่วยหายใจลงไปด้วย

สุเมธาŽ บอกว่า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยของการทำงานในสถานที่อับอากาศ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า 1.พื้นที่ดังกล่าวต้องเป็นห้องที่ปิดล็อกเอาไว้ หากมีใครจะเข้าไปก็ต้องขออนุญาตก่อน 2.ก่อนเข้าไปก็ต้องตรวจสอบอันตรายของอากาศ ณ เวลานั้นก่อน ว่ามีวัตถุไวไฟมากกว่า 10% หรือไม่ มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 19.5% หรือไม่

หรือมีก๊าซพิษที่อาจจะเป็นอันตรายหรือไม่ แต่ประเด็นที่ควรตั้งคำถามคือ เมื่อเข้าไปในพื้นที่นั้น ฝาบ่อรวบรวมน้ำเสียนั้นเปิดออกมาได้อย่างไร มีคำเตือน หรือการบอกกล่าวอะไรก่อนหรือไม่ที่จะมีการเข้าใกล้บริเวณดังกล่าวนั้น ปริมาณก๊าซพิษที่จะทำให้คนตายแบบเฉียบพลันได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นตั้งแต่ 1,000 พีพีเอ็มขึ้นไป แต่การตรวจวัด ณ จุดลมหายใจ เวลานี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้แล้ว แต่ก็สามารถตรวจเลือดพิสูจน์ได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายแรงงานว่าด้วยความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมชัดเจน คนที่เกี่ยวข้องคือ เจ้าของโรงงานและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ห้องอับอากาศดังกล่าวŽ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนฉุกเฉินสารเคมีกล่าว

จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างน่ากังวลสำหรับสถานประกอบการหลายๆ แห่ง ที่มีเรื่องของสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องคือ การทำแผนฉุกเฉินสำหรับการเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นมา โดยแผนดังกล่าวจะต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อให้เกิดความมั่นใจเวลาปฏิบัติการจริงบ่อยๆ ด้วย

เนื่องจากส่วนประกอบของระบบบำบัดน้ำเสียมีหลายส่วนที่อาจจะเกิดการสะสมของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อับอากาศ ดังนั้นผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับจ้างดูแลและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย ควรให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องทำงานเกี่ยวข้องกับพื้นที่อับอากาศดังกล่าว โดยให้ความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วย

หากมีความจำเป็นต้องดูแลรักษาระบบบ่อและระบบท่อ ซึ่งเป็นพื้นที่อับอากาศของระบบบำบัดน้ำเสีย หรือกระทั่งการลงไปแบบฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือคนที่ตกลงไป คพ.ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้

1.ใช้พัดลมเป่าอากาศสะอาด เพื่อไล่ก๊าซพิษ และเติมอากาศไปสู่พื้นที่อับอากาศ

2.ตรวจวัดปริมาณก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ก่อนเข้าไปทำงาน และตรวจวัดอย่างต่อเนื่องระหว่างการทำงาน

3.เตรียมหน้ากากกันสารเคมีและถังอากาศช่วยหายใจสำรองขณะลงไปทำงาน

4.ไม่ควรทำงานในพื้นที่อับอากาศโดยลำพัง

5.จัดอบรมผู้ปฏิบัติงานให้มีความเข้าใจในการทำงานในพื้นที่อับอากาศ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมการทำงานในพื้นที่อับอากาศและมีก๊าซพิษอยู่เป็นประจำ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษบอกว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการทำกฎกระทรวงผู้ควบคุมระบบบำบัดน้ำเสีย และผู้รับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสีย ภายใต้มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเบื้องต้นแล้ว

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระบบบำบัดน้ำเสีย จะต้องมีคุณสมบัติ มีความรู้ ความเข้าใจจริง และผ่านการอบรมในประเด็นดังกล่าวก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วย

สุดท้าย ความรู้ ความเข้าใจ และความมีสติ เมื่อเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ จะทำให้การเข้าไปช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากที่สุด….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image